กลุ่มทีม A-Leั Paint (เอ-เลอ-เพนท์) เป็นทีมสอนความถนัดทางสถาปัตยกรรม
ซึ่งเริ่มต้นจากการรวมตัวกันของ พี่นัน-นันทวัชร์ ชัยมโนนาถ และ
พี่เอก-เอกรัตน์ วรินทรา ตั้งแต่ ปี 2547 ด้วยปณิธาณที่เรายึดถือเสมอมาว่า เราสอนด้วยความตั้งใจ และรักในสถาปัตยกรรมและต้องการพัฒนาคุณภาพ ของวิชาชีพสถาปัตยกรรมให้มี
มาตรฐานที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไป
เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า คุณภาพของทีมเป็นสิ่งสำคัญ การเรียนการสอนของที่นี่จึงเน้นทีม ที่มีความชำนาญเฉพาะทางดูแลน้องๆ ทุกคน เป็นเพื่อน เป็นพี่ที่ให้คำปรึกษาได้ทุกๆ ปัญหา โดย
และจุดประสงค์ของการสร้าง Website นี้ขึ้นมาก็เพื่อที่จะเป็นบ้านเล็กๆ ของเราเหล่าชุมชน A-Leั Paint ชุมชนเล็กๆ ที่เราจะแบ่งปัน ความรู้ทางการออกแบบ, ประสบการณ์ และเกาะติดข่าวคราว ในแวดวงสถาปัตกรรมเป็นหลัก และหากว่าใครเพิ่งเปิดเข้ามาเจอ Website นี้ เราก็ขอต้อนรับทุกคนเข้าสู่บ้าน A-Leั Paint แห่งนี้ครับ น้องๆ สามารถสมัคร และเข้ารวมพูดคุย แสดงความคิดเห็นกันได้ตามอัธยาศัย หรือหากต้องการส่งงาน เพื่อให้วิจารณ์และแก้ไข เราก็เต็มใจ และยินดีให้คำแนะนำ แก่ทุกคนอย่างเต็มที่ครับ
ยินดีต้อนรับสู่บ้าน เอ-เลอ-เพนท์ (บ้านช้างน้อย) ครับ
พี่ๆ ทีมงาน


-
สถาปัตย์เรียนหนักขนาดไหนคะ ต้องอดหลับอดนอนแบบที่เค้าบอกกันมารึป่าว แล้วถ้าออกมาทำงานจริงๆ แล้วจะหนักเหมือนเดิมมั้ยคะ [โดย :
:D วันที่ : 08-10-2017 ]
ถ้าเกิดว่ามีคำถามไหนที่เป็นคำถามคลาสสิกประจำคณะนี้ พี่ขอยกให้คำถามนี้เป็นหนึ่งในนั้นเลยครับ เอาเข้าจริงๆเลยนะ ช่วงที่พี่เองเป็นเด็กมัธยมพี่ก็สงสัยเหมือนกันครับว่า ที่พี่ๆคณะนี้เค้าบอกๆกันว่ามันไม่ได้นอนน่ะ เป็นจริงอย่างที่ว่าจริงๆหรือ และไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามันจะมีคณะไหนด้วยเหรอที่เข้าไปเรียนแล้วต้องอดนอนให้ได้
พอเข้ามาเรียนคณะนี้แล้วจึงรู้ครับว่า สาเหตุที่ต้องอดนอนนั้นมีอยู่หลายประการด้วยกัน อย่างแรกเลยครับ ซึ่งพี่เองคิดว่าจริงๆแล้วมันก็เป็นกันทุกๆคณะหรือทุกๆโรงเรียนนั่นล่ะครับ น้องเคยมั้ยครับ ที่ได้งานอะไรก็ตามมาแล้ว เราไม่ได้ทำมันให้เสร็จทันที แบบว่าปล่อยเวลาไปเรื่อยๆแล้วบอกกับตัวเองว่า เดี๋ยวค่อยมาทำ เดี๋ยวค่อยไปเรื่อยๆ จนถึงคืนวันที่จะต้องส่งมันแล้ว คราวนี้เราก็ตั้งใจว่าจะลุยกับมันจริงจังละ เพราะว่าไม่สามารถผลัดวันออกไปได้อีกแล้ว เท่านั้นล่ะครับ การทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำจึงเกิดขึ้น และแน่นอนครับว่า ต้องเจียดเอาเวลานอนของเราไป เพราะว่ามันไม่เสร็จ
ซึ่งถ้าเกิดว่าน้องๆทุกๆคนก็น่าจะประสบมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่งครับ เอาง่ายๆเลยคือ ช่วงเวลาที่เราอ่านหนังสือสอบ ถ้าเกิดว่าเราอ่านมันมาเป็นประจำ มีการแบ่งเวลาอย่างดีมาอยู่แล้ว คืนก่อนที่จะสอบ เราเพียงแค่ทบทวนสิ่งที่เราอ่านๆมาเท่านั้น การนอนคืนนั้นจะเป็นการนอนที่สบาย แต่ถ้าเกิดว่าเป็นในทางตรงกันข้าม เราจะต้องอ่านยันตีสองตีสามทันที แล้วก็มีสภาพเหมือนกับซากศพไปสอบ หัวจะทึบๆคิดอะไรช้ากว่าปกติ แต่ก็ต้องทำ อะไรประมาณนั้น
ปัจจัยต่างๆที่จะทำให้เกิดการอดหลับอดนอนของคนอื่นนั้น มันนานๆเกิดขึ้นทีไงครับ เราเลยไม่ได้เรียกกันว่าเป็นสิ่งที่ทำเป็นประจำจนเด่นออกมา แต่คณะที่เราเรียนนั้น ส่วนใหญ่แล้ว มันเหมือนกับว่ามีงานฝีมือส่งทุกอาทิตย์ที่เรียนน่ะครับ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เอาจริงๆเลยนะครับ จะมีน้อยมากที่เค้าจะสั่งงานตอนเย็นแล้วอาจารย์บอกว่าคืนนี้ต้องอดหลับอดนอนไปทำมาให้เสร็จ ถ้าไม่เสร็จจะปรับตกหรือไดคะแนนไม่ดี
ส่วนใหญ่แล้วลักษณะของตารางงานคณะนี้จะเป็นแบบนี้ครับ คือ ถ้าเกิดว่าเราเรียนวันจันทร์ถึงศุกร์ วิชาที่เราเรียนกันวันจันทร์ อาจารย์ผู้สอนเค้าจะสั่งงานให้เรา แต่ว่าให้เราส่งกันวันจันทร์หน้า (ประมาณว่าให้งานไปแบบมีระยะเวลาทำมัน 7 วัน) และวันอังคารก็จะให้ส่งในอาทิตย์ถัดไป เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆจนถึงวันศุกร์ครับ
แล้วเป็นยังไงรู้มั้ย แน่นอนพอช่วงเวลาที่เพิ่งเปิดเทอมมา อาจารย์เค้าสั่งงาน เค้าให้ส่งงานตั้งอาทิตย์หน้าแน่ะ ช่วงเย็นวันจันทร์ที่เริ่มต้นเปิดเทอม ไม่ได้มีบรรยากาศของการใส่ชุดนักศึกษามานานแล้ว คราวนี้จัดซักหน่อย ชวนเพื่อนๆไปนั่งเ่ลนเดินเล่นตามร้านที่มันแบบว่าชิกๆหน่อย ตามประสา ซึ่งอาทิตย์แรกก็จะเป็นแบบนี้ครับ พอผ่านช่วงอาทิตย์แรกมาได้ คราวนี้ล่ะครับ งานเข้าในคืนวันอาทิตย์แน่นอน
เชื่อมั้ยว่าอย่าคิดว่าจะมานั่งทำในวันอาทิตย์ตั้งแต่เช้า พี่ขอเรียกว่าเริ่มทำต่อเมื่ออารมณ์มามากกว่าครับ เช่นถ้า แล้วแต่ตื่น อาการนี้จะเกิดขึ้นในช่วงของวันอาทิตย์ที่ต้องส่งงานวันจันทร์ พอตื่นขึ้นมาเหลือบดูนาฬิกาน่าจะประมาณสายๆเกือบเที่ยงเพราะเมื่อคืนนี้ดูซีรี่ดึกไปหน่อย (แบบว่าให้กำลังใจตัวเองว่าหาแรงบันดาลใจในการออกแบบ)
กว่าจะได้เวลาทำงานก็นั่นล่ะครับ เกือบเย็น นี่ยังไม่นับว่าอาจจะมีนัดกินข้าวเย็นกับที่บ้านเอาไว้ ถามว่าไปกินมั้ย ตอบได้เลยว่าไป ถามว่าในใจตอนนั้นเป็นอย่างไร ตอบว่าเอาเหอะน่า เดี๋ยวกินไว้เยอะๆคืนนี้จะได้มีแรงทำงานจนถึงเช้า ยังไงซะก็มีส่งล่ะน่า
พอกลับมาที่บ้านกำลังจะเริ่มงาน ก็กินกาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลังสารพัดที่คิดว่าจะช่วยในการทำงานได้ครับ และถึงได้เริ่มต้นทำงานอย่างจริงจัง แล้วมันก็เลยกลายเป็นประเพณีการอดนอนอย่างที่บอกอีกตามเคย
ซึ่งนักศึกษาสถาปัตย์กับเรื่องของเครื่องดื่มเพื่อกระตุ้นการตื่นนอนนั้นเรียกได้ว่าเป็นของคู่กันมาแต่ไหนแต่ไร เพื่อนพี่บางคนกินเอ็มร้อย ชนิดที่เรียกว่าเป็นปกติเสมือนเครื่องดื่มธรรมดายังไงอย่างงั้น เชื่อมั้ยครับว่ากินจนร่างกายรับรู้ไปแล้วว่าเป็นสารของเหลวที่ไม่ต่างไปจากน้ำ
เคยมีอยู่วันหนึ่ง พี่เห็นเพื่อนคนนั้นเค้ากินเครื่องดื่มชูกำลังนี่แหละ แล้วมันก็หมายมั่นปั้นมือเอาไว้ ประมาณว่าคุยข่มเพื่อนๆไปเลยว่าคืนนี้จะทำงานจนเช้าแน่นอน เตรียมตัวงงกับงานที่จะมาอย่างมหัศจรรย์เลย พวกพี่ก็เริ่มทำงานกันไปตามปกติ เชื่อมั้ยครับว่าใช้เวลาไม่ถึงห้านาที หันไปอีกอีกที เพื่อนพี่คนนี้นั่งหลับคาเก้าอี้เขียนแบบเลย
พอเพื่อนๆเข้าไปปลุกมันด้วยความหวังดีว่า ไหนว่าจะกินแล้วมีพลังสามารถทำงานได้ทั้งคืนไง เพื่อนพี่เข้าไปถาม
เฮ้ย
กูไม่ได้หลับซักหน่อย กูซ้อมหลับเว้ย มันตอบกลับมาแบบว่าอารมณ์เสียงแบบปนความหงุดหงิดมาด้วย
พอลุกขึ้นมาบอกอย่างนี้ ก็แน่นอนล่ะครับ หลังจากนั้นก็ไม่มีเพื่อนคนไหนยุ่งกับมันเลย คำถามคือ มันทำอะไรต่อจากที่ลุกขึ้นมาโวยวาย คำตอบคือ หลับต่อครับ เอ้อ บอกว่าหลับต่อคงไม่ใช่ เรียกว่า ซ้อมหลับ ต่อจะดีกว่า
พอถึงเช้า เพื่อนพี่คนนี้มันก็ลุกขึ้นมาโวยวายใหญ่เลยว่างานมันไม่เสร็จ เมื่อคืนนี้ เพื่อนๆเห็นมันนอนแล้วไม่ยอมปลุกมัน เพื่อนก็บอกว่า ก็เห็นว่ามึงซ้อมหลับอยู่ไง พวกเราตอบมันด้วยน้ำเสียงปนความฮาเล็กน้อย
มีอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กสถาปัตย์มักอดหลับอดนอนก็คือ
จบงานไม่ลง
อาการนี้พี่จะยกตัวอย่างนะครับ อาจจะเป็นเพราะลักษณะการทำงานของเรามันเป็นเรื่องของการออกแบบน่ะครับ มันไม่เหมือนกับการอ่านหนังสือทั่วไป ที่เหมือนกับว่าอ่านจบบทแล้ว ก็ไปเรียนไปสอบ หรือว่าทำรายงานที่มันมีรูปลักษณ์ที่ตายตัวครับศาสตร์ของการออกแบบมันสามารถดิ้นของมันไปได้เรื่อยๆ ไม่มีวันจบสิ้น การเกิดว่าเรายังรู้สึกว่ามันไม่ดีพอ มันก็ขึ้นอยู่กับเจ้าตัวคนออกแบบว่าจะต้องการให้มันดีไปเรื่อยๆแค่ไหน
พี่ขอแยกประเภทนี้ออกจากสถานการณ์ที่งานไม่เสร็จแล้วต้องเร่งทำงานจนไม่ได้นอนนะครับ แต่อันนี้คือ อยากใส่งานเพิ่มเติมเพื่อแสดงในส่วนของรายละเอียดมากขึ้น มันก็เลยมีงานมากขึ้น (เวลาส่งงานจำนวนปริมาณก็อาจจะมากกว่าชาวบ้านเค้าน่ะครับ) พี่มีเพื่อนคนหนึ่ง เป็นมนุษย์ประเภทนี้ครับ เหมือนว่าถ้าเกิดว่าเหลือเวลาเท่าไหร่ก่อนที่จะถึงกำหนดส่งงาน เค้าจะเต็มที่ เรียกได้ว่า ไม่หลับไม่นอน ยันสว่างกันเลย เพื่อที่จะได้งานที่ดีที่สุดจริงๆ
พฤติกรรมประเภทนี้แน่นอนครับว่าถูกใจอาจารย์ แต่อาจจะไม่ถูกใจร่างกายของเราเท่าไหร่ การทำแบบนี้ จะทำให้น้องคนที่ขยันตัวเองตลอดเวลานั้นสามารถบอกคนทั่วไปได้ว่า เค้าเองเป็นคนที่มีความขยันอย่างสม่ำเสมอนะ ขนาดตั้งใจขนาดนี้ยังเป็นคนที่อดหลับอดนอนเลย ดูสิ!!! เห็นมั้ย ยังไง เรียนคณะนี้ก็ต้องอดนอนอยู่แล้ว
ซึ่งพี่เองยอมรับครับว่า ช่วงเวลาแรกที่ได้เข้าไปเรียนคณะสถาปัตย์นั้น มีพฤติกรรมแบบนี้อยู่เหมือนกัน แต่เป็นได้ไม่นานครับ ไม่ใช่ว่าขยันจนล้าไปเองนะครับ แต่มันมีเหตุการณ์ที่ทำให้พี่คิดขึ้นมาได้ว่า จริงๆแล้วเราควรจะเรียนยังไง ให้มันดี และเกิดคำที่เรียกว่า สมดุล ครับ
วันนั้นเป็นวันที่อาจารย์ตรวจงานที่เราได้ทำกันมา เป็นโปรเจคใหญ่เลยของแต่ละคน ซึ่งพี่และเพื่อนๆได้งานคืนมาพร้อมกัน พร้อมกับตัวอักษรที่เขียนลงไปในงานของเรา ว่าเป็น A หรือ B หรือ C ต่างๆครับ (คะแนนนั่นเอง)
ต้องบอกก่อนครับว่า ช่วงเวลาที่พี่เรียนสถาปัตย์นั้น ปีแรกๆพี่เช่าหอพักอยู่ และเพื่อนๆที่เรียนอยู่ด้วยกันก็จะเช่าห้องข้างๆติดๆกันไป เราเลยได้เห็นการทำงานของเพื่อนแต่ละคน (เพราะถ้าอยู่บ้าน ก็ไม่น่าจะได้เห็นพฤติกรรมขณะทำงานขนาดนี้) ช่วงเวลาเย็นเป็นต้นไป เราจะได้เห็นหลากหลายรูปแบบการทำงานของแต่ละคน บางคนเลือกที่จะนอนก่อน แล้วค่อยตื่นขึ้นมาทำงานจนถึงเวลาส่งเลย พฤติกรรมแบบนี้เรียกได้ว่าต้องเป็นคนที่ใจแข็งพอสมควรครับ เพราะมันจะน่ากลัวมาก ถ้าเกิดว่าเราไม่ตื่น!!!
การทำงานใสลักษณะข้างบนที่พี่ว่านั้น โดยมากแล้ว พี่จะพบเห็นในเพื่อนผู้หญิงมากกว่าครับ เอาจริงๆเลยคือ แทบจะไม่มีเพื่อนผู้าชยคนไหนเลย ที่สามารถนอนก่อนแล้วตื่นขึ้นมาทำงานได้ เพราะเด็กสถาตย์ส่วนใหญ่แล้ว จะเกิดอาการที่เรียกว่า นอนยาก ตื่นยาก เคยเป็นไหมครับ
ช่วงเวลากลางวันที่อาจารย์สอนในห้องเรียน เรารู้สึกว่ามันล้า มันง่วงจริงๆ แต่พอกลับไปที่บ้าน ช่วงเวลาหลังเที่ยงคืน แทนที่เราจะง่วง กลับตาสว่างใสแจ๋งเลย แล้วก็เผลอหลับไปตอนไหนก็ไม่รู้ แต่ที่รู้คือ ช่วงเวลาลุกจากที่นอนเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากเสมอ
และอีกหนึ่งสาเหตุที่เด็กสถาปัตย์ไม่ค่อยกล้านอนก่อนแล้วค่อยตื่นมาทำงาน คือ เราไม่รู้เลยว่า งานที่เราออกแบบนั้นมันจะใช้เวลานานเท่าไหร่ในการทำ แบบว่าบางชิ้นงานมันหลอกตาน่ะครับ บางทีเราคิดว่า เราสามารถทำงานนี้เสร็จได้ภายในเวลา 2 ชั่วโมง แต่พอเอาเข้าจริงๆแล้ว ถ้ามันไม่เสร็จล่ะ
การตื่นมาทำตอนเช้า จะเป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆของการทำงานทีเดียว ซึ่งถ้าเราไม่ใจแข็งพอที่จะตื่นขึ้นมาด้วยตัวเองหรือเป็นคนที่สามารถกำหนดเวลาทำงานของตัวเองได้อย่างแม่นยำ ก็จะไม่มีใครกล้าเท่าไหร่
ส่วนบางคน เลือกที่จะดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง แล้วก็เปิดเสียงเพลงดังๆไปเรื่อยๆ (ที่ไม่ต้องเครียดเรื่องของเสียงเพลงจะรบกวนชาวบ้านหรือเปล่า เพราะว่าห้องที่ขนาบข้างของเพื่อนคนนั้น เป็นห้องของเพื่อนๆสถาปัตย์ด้วยกัน
พวกนี้จะไปนอนตายเอาช่วงเวลาเกือบเช้า โดยที่แต่ละคนจะมีเวลานอนที่ไม่ตรงกัน หลายคนอาจจะคิดว่าเปิดเพลงขนาดนี้ ถ้าเกิดว่าเพื่อนที่อยู่ข้างห้องเกิดง่วงนอนและอยากนอนขึ้นมา เสียงของมันจะไม่ไปรบกวนหรือ?
คำตอบคือ ไม่ครับ เพราะช่วงเวลาที่หลับนั้น คือ ช่วงเวลาที่แต่ละคนถึงจุดสูงสุดของร่างกาย และหลับได้สบายโดยที่ไม่ต้องกังวนว่าจะมีเสียงมารบกวนจากที่ใดก็ตาม
และนี่คือวิธีการส่วนใหญ่ที่เด็กำสถาปัตย์ใช้ๆกัน มันให้ความปลอดภัยในความรู้สึกที่สุดแล้วครับ บางคนเลือกที่จำเสร็จงานตอนช่วงตี 1 บางคนเลือกที่จะเสร็จงานตอนตี 5
พี่เองอยู่ท่ามกลางเพื่อนที่พี่เห็นเหล่านี้ พี่เลยเอาเข้ามาเปรียบเทียบกับคะแนนที่เพื่อนที่เหล่านั้นได้กลับมากัน ว่าจริงๆแล้ว มันดูคุ้มค่ากับการที่อยู่ดึกและอดหลับอดนอนมากกว่าชาวบ้านเค้าหรือไม่
และวันนั้น สิ่งที่พี่ได้เรียนรู้ความจริงเพิ่มอีกอย่างหนึ่งในชีวิตคือ ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ยุติธรรม การทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ อดหลับอดนอนของแต่ละคน ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เค้าเหล่านั้นจะได้คะแนนออกมาดีกว่าคนที่ตัดใจจบงานของตัวเองแล้วได้นอนตอนตี1 เสมอไป
บางคนทำงานมาแทบตาย ตั้งเยอะเต็มไปหมด แต่ว่างานนั้น ไม่ได้ถูกใจอาจารย์คนที่ตรวจ คะแนนที่ออกมามันก็ไม่ได้ดีเลย สุดท้ายเราก็ได้แต่หันมามองหน้าว่า อะไรคือเกณฑ์ของการให้คะแนนของอาจารย์ ซึ่งจุดนี้เอง เราต้องเข้าใจครับว่า งานที่เราทำนั้น มันเป็นงานที่ต่างจากคณะอื่นที่อยู่ในเชิงวิชาการเค้าส่งกัน
คณะอื่นเค้าอาจจะวัดกันจากข้อมูลความถูกต้อง แต่อันนี้นับตามอารมณ์ความสวยงามของคนที่ตรวจล้วนๆเลยครับ พี่ว่ามันก็คือความเป็นจริงเหมือนกันนะ เพราะอาจารย์ก็เหมือนกับลูกค้าคนหนึ่งในอนาคต หรือว่าเป็นคนที่เสพงานออกแบบของเรา งานออกแบบมันก็คือศิลปะอย่างหนึ่งครับ ซึ่งย่อมต้องมีทั้งคนที่พอใจและไม่ชอบมันบ้าง แต่ถ้าส่วนใหญ่ชอบก็โอเคแล้ว หรือว่าแม้คนทั้งโลกนี้ไม่ได้ชอบงานที่เราออกแบบ มีเพียงแค่คนเดียวที่ชอบเรา นั่นก็คือลูกค้าที่จ้างเราออกแบบ เท่านั้นก็พอแล้วครับ เพราะหัวใจของการออกแบบคือ การได้ออกแบบตรงตามใจและถูกใจกับคนที่ให้เราออกแบบที่สุด
ดังนั้น อาจารย์เหมือนกับลูกค้าของเรา ซึ่งพี่เชื่อครับว่า ต่างอาจารย์คะแนนก็ต่างกัน การที่เราได้รับมอบหมายงานในช่วงเวลาที่เรียนนั้น มันเหมือนกับสนามซ้อมให้เราฝึกฝน การที่เราทำเต็มที่แล้ว และมันอาจจะไม่ได้คะแนนตามที่เราหัวงเอาไว้ นั่นไม่ได้หมายความว่างานของเราไม่ดี เพียงแว่าอาจจะมาไม่ได้ถูกถูกเวลาเท่าไหร่เท่านั้นเองครับ
เพื่อนพี่บางคนทำงานตัดโมเดลอย่างหนักทั้งคืน แต่ช่วงเวลาที่อาจารย์เห็นแบบของเพื่อนที่แล้วเค้าตัดสินใจเลยว่าอาจารย์ไม่ชอบมันเลย เค้าดูโมเดลที่เพื่อนพี่คนนั้นใช้เวลาตัดมันทั้งคืนเพียงแค่ไม่ถึง 3 วินาทีด้วยซ้ำ จากนั้นก็ส่งมันคืนคนที่ออกแบบอย่างรวดเร็วแล้วบอกว่า ให้ไปทำใหม่
มันเลยทำให้พี่คิดได้ว่า งานออกแบบกับช่วงเวลาที่ได้นั้นมีความสำคัญมาก จังหวะ ของชีวิตและช่วงเวลาในการออกแบบเป็นสิ่งสำคัญเสมอ เราต้องรักษาความสมดุลของการทำงานให้ได้ นี่คือสิ่งที่คณะนี้พยายามจะสอนเรา คือ การทำงานที่มาก โดยเวลาที่จำกัด เป็นการท้าทายว่าเราจะสามารถบริหารจัดการเรื่องของเวลานั้นได้ดีเพียงใด
เพราะโลกของความเป็นจริงนั้น ลูกค้าไม่เคยให้เวลาเราทำงานได้อย่างที่ใจเราต้องการ เป็นงานที่เกี่ยวเนื่องกับคำว่าธุรกิจแล้ว ทำอย่างจะเร่งรีบ และเราต้องออกแบบให้ได้เสร็จตามเวลา และแน่นอนครับ เราจะมานั่งอดหลับอดนอนตลอดชีวิตอย่างนั้นไม่ได้ คนที่สามารถบริหารจัดการงานที่กองอยู่ตรงหน้าได้เก่งที่สุดเท่านั้น ถึงจะประสบความสำเร็จครับ
จำได้ว่าช่วงเวลาเริ่มแรกที่พี่จบและทำงานเป็นออกแบบในช่วงแรกนั้น พี่นัดเพื่อนจองสนามบอลเเอาไว้ นานทีจะได้รวมกลุ่มกันไปเตะบอล วันนั้นนั่งทำงานอย่างสบายๆ แต่อยู่ดีๆ มีเมลเข้ามาถึงบริษัทบอกว่าเจ้าของคอนโดที่ออกแบบ อยู่ดีๆก็อยากเห็นรูปร่างหน้าตาคร่าวๆของสระว่ายน้ำเลย ทั้งที่กำหนดการส่งนั้นเป็นอีกสองวัน ไม่ใช่เช้าวันรุ่งขึ้น
คำตอบของพี่คือ ได้เลย จะส่งแบบร่างคร่าวๆให้ในวันพรุ่งนี้ครับ พี่ตอบกลับเค้าไปในทันที
และช่วงเวลานั้น มองนาฬิกาก็เกือบห้าโมงเย็นเข้าไปแล้ว หันมองหน้าต่าง ฟ้ายามเย็นช่างแสนสวยอะไรอย่างนี้ เป็นการพูดปลอบตัวเองไปเบาๆ พยายามมโนในใจว่าบรรยากาศของที่ทำงานสวยกว่าที่สนามบอลเยอะเลย
แต่อย่าคิดนะครับว่า ทุกอย่างจะจบเพียงแค่การตัดสินใจจะนั่งทำงานอยู่ที่ทำงานในเย็นวันนั้นเท่านั้น เพราะเหลือบดูนาฬิกาแล้ว เหลือเวลาอีกเพียง หกชั่วโมงจะเที่ยงคืน มันเป็นการตัดสินใจกับตัวเองว่า เราจะเลือกนั่งทำงานจากนี้ไปถึงเช้าเลย ซึ่งส่งงานเสร็จก็กลับไปนอน (เหมือนช่วงเวลาที่เรียนที่เด็กสถาปัตย์เค้าทำๆกัน)
ถ้าทำอย่างนั้นก็คงได้ เพราะอาจจะหาข้ออ้างในการที่ว่าเราทำงานนี้จะถึงเช้าแล้วกลับไปนอนที่บ้านเจ้านายก็คงจะไม่ได้ว่าอะไรหรอก ถ้าเป็นตอนที่เรียนก็เหมือนกับว่าวันนั้นมีเรียนวิชาที่มีคาบเช้า เราก็จะโดดเรียนแล้วกลับบ้านไปนอน ส่วนนี่เป็นการทำงานจริง ตารางของงานที่จะต้องเกิดขึ้นในวันถัดไป อาจจะส่งผลถึงความเสียหายของบริษัทได้
พอคิดได้ถึงตอนนี้แล้ว หลายคนอาจจะเลือกทุ่มไปเลย แล้วไม่ต้องนอนไปเลย จากนั้นเย็นนั้นค่อยกลับไปนอนให้มันเต็มที่เลย แต่อย่าลืมนะครับว่าเหตุการณ์แบบนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แล้วเราต้องมานั่งแบบนี้ ชีวิตอาจะไม่ยืนยาวได้
ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดคือการบริหารและจัดการเวลาที่มีอยู่ เพื่อให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เหมือนกับช่วงที่เรียนน่ะครับ ถ้าเกิดว่าเราต้องส่งงานอาจารย์ในวันถัดไป ทั้งที่อาจารย์เพิ่งจะสั่งงานเรามาเมื่อตอนเย็นวันนั้นเลย เราจะมีวิธีจัดการกับมันยังไง
2 เหตุการณ์นี้เหมือนกันเลย มันคือการฝึกจบงานให้ได้เท่าที่เราสามารถทำได้ครับ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่คณะเกี่ยวกับการออกแบบพยายามที่จะบอกเรา แต่เค้าไม่สามารถบอกเราได้ด้วยคำพูดต่างๆนานา เพราะว่าแต่ละคนนั้นมีก็มีวิธีการสร้างผลงานที่ออกมาดีตามแบบฉบับของตัวเอง ทุกอย่างต้องเรียนรู้ และคิดออกมาเองให้ได้
เราเรียนไปเพื่อไม่ใช่เพื่อเป็นนักออกแบบในสิง่ที่เราออกแบบเท่านั้น แต่เราต้องเป็นนักออกแบบชีวิต ออกแบบรูปแบบการทำงานให้เกิดความสมดุลในชีวิตให้ได้ด้วยครับ ทุกอย่างถึงจะออกมาดี
-
อยากถามตามนี้เลยค่ะ รบกวนด้วยนะคะ :D
https://www.dek-d.com/board/view/3798333 [โดย :
BOLONA วันที่ : 08-10-2017 ]
พี่ตอบในรายละเอียดเดียวกันนี้ ในข้อที่มีน้องถามมาต่อจากข้อนี้นะครับ ลองอ่านได้เลยครับ :)
-
อยากทราบจุดเด่นของสถาปัตย์ลาดกระบังค่ะว่ามีจุดเด่นตรงไหน แล้วมันเอื้อต่อการเรียนของเราแค่ไหนอ่ะคะ ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะสมัครของที่ไหนดี แล้วถ้าตอนนี้อยู่ม.6มีพื้นฐานมาบ้าง อยากเรียนทำพอร์ต สามารถเรียนได้หรือเปล่าคะ หรือว่าต้องเรียนมาก่อนแล้วถึงสมัครทำพอร์ตได้ [โดย :
ปภัสวี เพ็ชรพรหมศร วันที่ : 29-09-2017 ]
ถ้าจุดเด่นที่ชัดเลยของสถาปัตย์ลดากระบัง อาจจะเป็นเรื่องของ "โครงสร้าง" งานที่ทำเน้นการไปใช้งานได้จริงน่ะครับ เพราะตัวหลักสูตรจะเน้นไปที่แนวทางของการปฏิบัติการมากพอสมควร ถ้าเกิดว่าน้องเป็นคนที่ชอบเรื่องของการลุยๆ อึดๆ แบบว่าเต็มที่กับเรื่องของงานวาด งานลุย Presentation น้องน่าจะชอบที่นี่น่ะครับ
ส่วนเรื่องของ Port หรือการมสมัครเรียน ถ้าเกิดว่าเราม6 แล้ว พี่แนะนำว่าลองเข้ามาที่สถาบันเพื่อเข้ามานั่งคุยก่อนได้ครับ ว่าจะวางแผนต่างๆยังไงดี แล้วค่อยว่ากันต่อไปครับ
-
ตอนนี้อยู่ม.ต้นค่ะ รู้ตัวแล้วว่าอยากเข้าสถาปัตย์ แต่ยังไม่แน่ใจค่ะว่าจะเลือกสาขาไหนดี มีคิดๆอยู่ระหว่างสถาปัตย์หลักกับภายในเลยอยากถามพี่ค่ะว่าควรใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินใจดี แล้วก็อยากให้พี่ช่วยอธิบายในส่วนของสาขาอื่นด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ [โดย :
Waranya วันที่ : 23-08-2017 ]
เรียกได้ว่าเป็นคำถามที่อยู่ในใจน้องหลายคนเลยครับ เพราะว่าเอาจริงๆนี่ก็เป็นปัญหาเดียวกับช่วงที่พี่กำลังจะต้องเลือกสาขาวิชาที่จะเรียนอยู่เหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะมันเหมือนกับว่า รักพี่เสียดายน้องน่ะครับ
ช่วงนั้นถามรุ่นพี่หลายคน เขาก็ตอบมาแค่ว่าเรียนเน้นภายนอกกับภายในอะไรประมาณนั้น ซึ่งตัวเราเองก็รู้อยู่แล้วว่ามันเป็นประมาณนั้น มันก็เลยมืดไปแปดด้านอยู่พอสมควร
เอาเป็นว่าพี่จะบอกแบบเน้นๆไปที่ความต่างระหว่าง 2 ภาควิชานี้เลยละกันนะครับ ส่วนเรื่องของภาควิชาอื่นนั้น ละไว้ก่อนละกันครับ จะได้เน้นที่ตรงนี้ไปก่อน
สาขา สถาปัยกรรม นั้นเป็นสาขาหลัก การเรียนก็อย่างที่บอกครับ เนื่องจากมีต้นกำเนิดมาจากความเป็นคณะวิศวกรรมอยู่เป็นพื้นฐาน ดังนั้น การเรียนจะเน้นไปที่การวางผังโดยรวมของอาคาร การวางห้องต่างๆ การเชื่อมต่อโดยมีหลักการความเป็นจริงเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะ ทุกการวางเราจะต้องรู้ด้วยว่ากฎหมายนั้นเขาว่ากันอย่างไร มันจึงมีกฎเกณฑ์ของความเป็นจริงเข้าเกี่ยวข้องอยู่เยอะ
รวมไปถึงพื้นที่แต่ละห้อง แต่ละส่วนที่ต้องเชื่อมต่อด้วยระบบไฟฟ้าและประปาต่างๆ มันเลยทำให้ต้องเรียนเกี่ยวกับพวกระบบต่างๆที่เกิดขึ้นภายในอาคาร แต่ก็ไม่ได้ซีเรียสอะไรถึงขั้นที่ต้องเรียนรู้งานระบบเหมือนพวกวิศวกรรมอะไรขนาดนั้นหรอกนะครับ เพียงแต่ว่าถ้าเราเอามาเทียบกับสาขาสถาปัตยกรรมภายใน แน่นอนว่าความหนักของมันนั้นต่างกันอยู่มากเลยทีเดียว
อีกเรื่องที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดแน่ๆคือ
ความละเอียดในรายละเอียด
อย่างเป็นต้นว่า สาขาวิชาสถาปัตยกรรมนั้นจะเน้นที่ภาพรวมการเรียงต่อเพื่อเป็นพื้นที่มากกว่า แต่ส่วนของสาขาภายในนั้น เนื่องจากเนื้องานที่มีคือ มีพื้นที่มาตั้งต้นอยู่แล้ว ที่เหลือคือการเอาความคิดสร้างสรรค์จัดเรียงให้เกิดเป็นความแตกต่างเท่านั้นเอง
และความแตกต่างบนความสวยงามของการออกแบบภายในนั้น มันก็ต้องเจาะลึกลงไปถึงขั้นการจัดวางแสงไฟประเภทไหน อย่างไรในห้องแต่ละห้องที่เราออกแบบเพื่อให้ได้อารมณ์ความรู้สึกในแบบที่เราต้องการ หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ที่เลือกว่า ไม่ใช่ว่าเราเลือกแบบเหมือนๆกันเท่านั้น ทุกรายละเอียดเราอาจจะต้องเป็นคนที่คอยเดินดูว่าที่ไหนมีขายเก้าอี้แบบที่เราต้องการบ้าง หรือที่ไหนมีขายเตียงที่ตรงกับแบบโทนที่เราออกแบบไว้
บางทีเก้าอี้อาจจะหาไม่ได้กับแบรนด์ดังๆของบ้านเรา แต่เราอาจจะหามันได้จากตลาดจตุจักรก็ได้ ในราคาที่ย่อมเยาและแตกต่างมากกว่า
หรือบางทีอาจจะต้องลงรายละเอียดมากกว่านั้น เรียกได้ว่าแม้กระทั่งกรอบรูปที่วางอยู่ข้างหัวเตียง นักออกแบบภายในบางคนยังต้องให้ความใส่ใจมากเป็นพิเศษเลย เพราะว่ามันเกี่ยวข้องกับอารมณ์และความเข้ากันของอารมณ์ภาพรวมของห้องที่เราออกแบบ
ดังนั้น สาขาภายในจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ในส่วนของความเป็นแฟชั่นหรือแทรนต่างๆเข้ามามีส่วนร่วมเยอะ เพราะว่าการออกแบบภายในนั้น มันไม่ใช่แค่ความสวยงามโดยรวมเท่านั้น มันยิ่งแข่งกันที่ตัวตนความสุขของคนที่อยู่จริงๆ
ถ้าเกิดว่าน้องเป็นคนที่ชอบในส่วนของรายละเอียดของงานมากๆ บางที ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายในนั้นอาจจะเหมาะกับน้องกว่าภายนอกก็ได้ครับ แต่เอาเข้าจริงๆนะครับ การแตกสาขาย่อยเมื่อเราเรียนจบและทำงานนั้น ทั้ง 2 สาขาก็ยังเป็นสาขาที่มีการแตกย่อยเป็นอาชีพที่เยอะกว่าชาวบ้านเขามากอยู่ดี อันนี้ไม่ต้องซีเรียสครับ
น้องอาจจะเลือกเรียนสาขาสถาปัตยกรรมหลักโดยที่ให้เหตุผลว่า น้องอยากที่จะออกแบบสถาปัตยกรรมภายนอกได้ด้วย ส่วนภายในนั้น จริงๆแล้ว มันก็มีวิชายิบย่อยอยู่ในหลักสูตรของตัวหลักเองอยู่แล้วเกี่ยวกับการออกแบบภายใน โดยน้องก็อาจจะใช้สิ่งนี้เอามาเรียนรู้แล้วต่อยอดเอาเอง เพราะเข้าใจว่าเราคงไม่ได้เรียนละเอียดเท่ากับภาคภายในที่เขาเรียนกันจริงๆ
แต่เราก็สามารถใช้ความชอบส่วนตัว หาทางเรียนรู้ได้นี่นา แถมเมื่อเรียนจบแล้วยังสามารถหางานได้ทั้งสองรูปแบบอีกด้วย ถ้าคิดอย่างนั้นก็สามารถเลือกเรียนภาคหลักได้อย่างไม่ต้องลังเลครับ
ซึ่งพี่ขอบอกไว้ก่อนเลยว่าเป็นเรื่องยากมากเหมือนกันครับ ที่จะรู้ว่าเราชอบอะไรกันแน่ ถ้าเกิดว่าไม่ได้มีความแน่วแน่มาตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะเข้าเรียนภายในเท่านั้น ส่วนใหญ่ก็จะพ่ายแพ้ให้กับความเป็นภาคหลักที่เน้นแบบว่า เลือกเรียนสายวิทย์ในช่วงมัธยมปลาย เพื่อที่เวลาเลือกจะสอบเข้าคณะไหนจะได้สอบได้ 100% แบบไม่มีเงื่อนไขของมหาลัยไหนมาจำกัดเลย
พี่ว่าอันนี้ต้องใช้เวลาหน่อยน่ะครับ เราไม่สามารถตอบมันได้ทันทีหรอก แล้วดูจากระยะเวลาของน้องที่ตอนนี้อยู่แค่ชั้นมัธยมต้นเอง พี่ว่ายังมีเวลาอีกเยอะครับ ถ้าให้แนะนำเท่าที่ตอนนี้สามารถทำได้ พี่ก็อยากจะให้น้องเลือกเรียนสายวิทย์เอาไว้ก่อนน่ะครับ เพราะอย่างน้อยการสองของทั้ง 2 ภาควิชาถ้าเป็นสายวิทย์ ก็จะไม่มีมหาลัยไหนเอาเงื่อนไขมาเขี่ยเราออกจากการสอบเข้าได้ครับ
-
สวัสดีครับ ตอนนี้ผมเรียนอยู่ ม.5 เทอม 1 แล้ว เรียนอยู่สายวิทย์คณิต แต่ไม่ค่อยแข็งเรื่องฟิสิกส์กับเลขเท่าไหร่ครับ การวาดพวกคน รถ สถานที่ยังพอถูๆ ไถๆ ไปได้ณ ตอนนี้ เตรียมตัวทันไหมครับ [โดย :
ธนพล สุริยะโชติตระกูล วันที่ : 07-08-2017 ]
ทันแน่นอนครับ
ติวความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์- พฤศจิกายน 2560.
ทั้งการสอบตรง,โควต้าและ PAT4
เริ่มต้นเรียนทุกวันอาทิตย์
เริ่มต้น วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2560. นี้
โดยที่ตารางเรียนคอร์สพื้นฐาน
ราคาคอร์สละ 3600 บาท ต่อการเรียน 36 ชั่วโมง
(เรียนทุกๆวันอาทิตย์)
ตาราง Basic Course ของ Course เดือนพฤษภาคม 2560.
ครั้งที่ 1 วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2560. 10.00-17.00
ครั้งที่ 2 วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน 2560. 10.00-17.00
ครั้งที่ 3 วันอาทิตย์ที่ 03 ธันวาคม 2560. 10.00-17.00
ครั้งที่ 4 วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2560. 10.00-17.00
ครั้งที่ 5 วันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม 2560. 10.00-17.00
ครั้งที่ 6 วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2560. 10.00-17.00
ซึ่งพอเรียนจบคอร์สดังกล่าวแล้ว น้องๆสามารถเลือกเรียน
คอร์ส Advance ได้ต่อเนื่องเลยทันที ในวันและเวลาเดียวกัน
โดยที่ราคาค่าเรียนเท่ากันคือ 3600 บาทต่อการเรียน 36ชั่วโมงครับ
โดยชำระพร้อมกันทั้งห้อง
ถ้าเกิดว่าขาดเรียนครั้งไหน สามารถหาวันลงชดเชยได้เพื่อตามเนื้อหาเพื่อนๆได้ทัน
ทางเราจะรับจองเฉพาะน้องที่ชำระเงิน 3600 บาทแรกเท่านั้นครับ
เพื่อเป็นการยืนยันว่า อยากเรียนจริงๆ เพราะที่นั่งเรามีจำกัด
ส่วนวิธีการชำระเงิน
มี 2 ทางครับ คือเดินมาชำระเงินสดที่สถาบันได้เลย หรือ
โดยการโอนบัญชีทางธนาคาร
บัญชีใดก็ได้ตามรายละเอียดด้านล่างนี้ครับ
ธนาคารกสิกรไทย
สาขาสำนักพหลโยธิน
บัญชีออมทรัพย์
ชื่อบัญชี : นายเอกรัตน์ วรินทรา และ นาย นันทวัชร์ ชัยมโนนาถ
เลขที่บัญชี : 799-2-72551-2
โดยกรณีที่ชำระเงินทางธนาคาร รบกวนถ่ายรูปใบเสร็จ
หรือแคปหน้าจอ หลักฐานการโอนเงินเข้ามาที่ Line id: alepaint
จากนั้นพิมพ์ ชื่อ นามสกุล พร้อมกับเบอร์โทรประกอบการจอง
เท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้วครับ
อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการเรียนที่นี่ใช้แค่ ดินสอ2B พร้อมกระดาษA4 ประมาณ20แผ่นครับ
ส่วนเรื่องของสี หรือว่าอุปกรณ์ในการเรียนต่างๆที่มากกว่านั้น
อันนี้เดี๋ยวเรียนๆไปแล้วพี่จะแนะนำให้ค่อยๆซื้อเป็นรายๆไปนะครับ
เพราะจะได้ซื้อที่ตรงกับที่จะเรียนจริงๆครับ
ขอบคุณครับ
A Le Paint :)
-
ผมจะเปิดเทอมแล้ว เลยอยากถามว่า ส่วนใหญ่งานแรกๆที่อาจารย์ชอบสั่งจะเป็นแบบไหนครับ อยากรู้รายละเอียด [โดย :
หมวกฟาง วันที่ : 04-08-2017 ]
-
ตอนนี้กำลังจะขึ้นปี 1 สถาปัตย์ธรรมศาสตร์ จริงๆความคาดหวังในใจคือสถาปัตย์จุฬา แต่คะแนนน้อย ไปไม่ถึงค่ะ เลยตัดสินใจจะสู้อีกสักตั้งเพื่อจุฬาค่ะ อยากถามพี่นันว่าหนูตัดสินใจได้ดีมั้ยคะ? แล้วสถาปัตย์ธรรมศาสตร์ในแวดวงสถาปนิกถือว่าอยู่ในระดับที่โอเคหรือไม่คะ? [โดย :
frnb วันที่ : 31-07-2017 ]
เวลาที่เราจะสอบเข้ามหาลันไหนแล้ว พอจุดหมายปลายทางไม่ได้เป็นสถาบันที่เราตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก มันจะมีกำแพงขึ้นมาก่อนเลยครับ กำแพงที่ว่านี้คือ มันเหมือนกับเราอยากได้ของที่เราอยากได้ซึ่งเป็นยี่ห้อหนึ่งที่เราฝังใจมาตลอดว่ามันสวยและชอบ แต่ในความเป็นจริงมันอาจจะหมดไปในท้องตลาด หรือว่าเงินที่เรามีอยู่อาจจะไม่พอ ซึ่งทางออกมันก็มีอยู่ง่ายๆคือ ตัดใจจากมันแล้วใช้ในสิ่งที่เราได้มา มันก็สามารถใส่ของได้เหมือนกัน เพียงแต่ช่วงแรกๆนั้นมันอาจจะไม่สุดในความรู้สึกเท่านั้นเอง แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปแล้ว อาจจะเปิดใจอยู่กับมันไปเรื่อยๆจนเกิดเป็นความผูกพันขึ้นมาก็ได้ มันก็เป็นของชิ้นที่เกิดคุณค่าขึ้นมาได้ครับ
ในทางกลับกัน ถ้าเกิดว่าเราเลือกที่จะไม่เอากระเป๋าใบที่หามาได้ในตอนนี้แล้วเลือกที่จะเดินหน้าเก็บเงินหรือพยายามหามันมาให้ได้ในอนาคต ต้องอย่าลืมนะครับว่าเรากำลังจะต้องแลกมาด้วยสิ่งที่เรียกว่า เวลา
ซึ่งเวลาที่เราเสียไปนั้น อาจจะทำให้เราได้มันมาหรือไม่ได้ก็ได้ เพราะเราอาจจะเก็บเงินไปไม่ถึง แม้ตั้งใจแล้วเต็มที่แต่วันที่จะซื้อมีเหตุให้ต้องเสียเงินไปใช้ในทางอื่นโดยที่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้มันมา ก็ประมาณว่าต้องเสียเวลาไปเปล่าๆ อันนี้คือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นครับ
ซึ่งหลายๆคนพอมาถึงทางแยก แน่นอนว่าที่บ้านเราต้องเลือกให้เราเอามหาลัยที่น้องสอบได้เอาไว้ก่อน แล้วจากนั้นค่อยหาช่วงเวลาเข้ามาสอบใหม่ก็ได้
ปัญหาที่น้องถามพี่มานี้ เป็นปัญหาระดับชาติของคนที่ไปไม่สุดครับ คนนอกที่เขาไม่ติดอะไรเลยอาจจะฟังแล้วเกิดความรู้สึกว่า ก็เรียนๆไปนั่นแหละ ทำไมต้องมาเรื่องมากด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเกิดว่าติดมหาลัยที่ไม่ต้องการที่จะเรียนแล้วไม่ชอบจริงๆ อารมณ์มันให้เหมือนการที่สอบไม่ติดเหมือนกันนะครับ
อย่างแรกเลยถ้าเกิดว่าเป็นพี่นะ พี่จะสำรวจตัวเองก่อนครับว่า จริงๆแล้วเราไม่ได้ชอบมหาลัยที่เราติดขนาดนั้นเลยเหรอ แล้วที่ว่าไม่ชอบนั้นเราไม่ชอบมันเพราะอะไร ไม่ชอบเพราะว่าเรากลัวว่าจะเป็นมหาลัยที่จบมาแล้วหางานได้ยากในอนาคตรึเปล่า หรือเป็นเพราะว่าเราเข้าไปเดินในมหาลัยนั้นแล้ว เราไม่ชอบในบรรยากาศ อาคารเรียนจริงๆหรือไม่ถูกโฉลกกับอาจารย์ที่เดินอยู่ในคณะ
ส่วนเรื่องของค่าเทอมพี่ตัดออกไปก่อนนะครับ เพราะว่าน้องน่าจะรู้อยู่ก่อนที่จะเลือกอยู่แล้วล่ะว่าค่าเทอมที่น้องจะเข้าไปเรียนนั้นเท่าไหร่ แล้วน้องรับได้แค่ไหน เพราะถ้าเกิดว่าน้องเลือกมันก็แสดงว่าสามารถรับมือกับค่าเทอมที่แตกต่างได้ประมาณหนึ่งแล้วล่ะครับ
อีกเรื่องที่หลายคนเป็นก็คือเรื่องของการเดินทางในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นชิน เพราะว่าอาจจะต้องไปอยู่หอพัก เนื่องจากการเดินทางเข้ามาเรียนในทุกวันนั้น ถ้าเกิดว่าบ้านอยู่ไกลเกินไป ก็ต้องเข้ามาอยู่หอพัก คราวนี้สภาพแวดล้อมบริเวณหอพักก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งด้วยที่ทำให้ไม่ได้อยากไปเรียน
ซึ่งถ้าเกิดว่าเราไม่โอเคกับข้างต้นที่พี่บอกว่าแล้ว โอกาสที่เราจะต้องมาสอบใหม่โดยที่ไม่ต้องเริ่มเรียนก็อาจจะเป็นอย่างนั้น แต่เท่าที่พี่มองนะครับ มหาลัยธรรมศาสตร์ก็เป็นอีกมหาลัยที่ดีเหมือนกัน (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์)
แต่ที่อาจจะมีเสน่ห์น้อยกว่าหลายๆสถาบันก็อาจจะเป็นเพราะว่าอยู่ไกลต้องไปเรียนถึงรังสิต อีกทั้งด้วยระดับค่าเทอมที่แพงกว่าชาวบ้านเขา ก็ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเรียนนั้นค่อนข้างสูงขึ้นมาก และตัวคณะเองนั้นก็มีประวัติความเป็นมาที่น้อยกว่าหลายๆมหาลัยที่น้องฝันที่จะเข้าด้วย
ถ้าเกิดว่าเราไม่มองตรงนี้ล่ะ มองไปที่ตัวหลักสูตรและพร้อมที่จะตั้งใจเรียนเต็มที่ พี่ว่าคนที่จบจากธรรมศาสตร์เป็นอะไรที่โอเคเหมือนกันนะครับ พี่ว่าพอทุกคนที่เรียนผ่านการเคี่ยวกรำมาหลายๆปี เริ่มมีทักษะต่างๆที่ตัวเองพัฒนาขึ้นมาได้ ที่เหลือมันคือตัวเราเองแล้วล่ะครับ
โอเคครับพี่เองก็ยอมรับว่าตัวสถาบันเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างอยู่เหมือนกัน เพราะยังไงแล้วมหาลัยที่มีชื่อ ย่อมมีความได้เปรียบเรื่องภาพลักษณ์เมื่อเราเรียนจบมามากกว่าครับ แต่ถ้าเราลองมองกลับไปอีกมุมดูล่ะครับ มุมที่เราจะได้พิสูจน์ตัวเราเองด้วยว่าเราจะเจ๋งแค่ไหน เราต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสิ่งที่ดีที่สุดมันอยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราเป็นคนที่ขยัน พัฒนาตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ สิ่งที่ตามมาคือ
มหาลัยจะไม่ได้สร้างชื่อให้กับเรา เราจะเป็นคนสร้างชื่อให้กับมหาลัยเอง
พอปรับเปลี่ยนวิธีการคิดขึ้นมา ทุกอย่างมันก็ดูเหมือนจะเปลี่ยนไปเยอะเลย ก้อนหินที่เราแบกไว้ที่ชื่อ แบรนด์มหาลัย จะถูกยกออกไปทันที แล้วสิ่งที่ตามมาคือ ท้องฟ้าจะโปร่งใสครับ
คิดได้อย่างนั้นแล้ว พี่ก็จะเข้าไปเริ่มเรียนที่ธรรมศาสตร์ไปก่อน แต่ต้องเข้าไปเริ่มเรียนด้วยมุมมองและทัศนคติที่ดีนะครับ ลองเปิดใจดูนะครับ การเปิดใจนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะว่าถ้าเกิดว่าเราไม่เปิดใจแล้ว พี่ว่าไม่ต้องเริ่มต้นไปเรียนจะดีกว่าครับ อคติจะตามมาล้วนๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นเหตุผลกับความเป็นจริงมันจะไม่ได้อยู่ที่เดียวกันแล้วครับ
ช่วงแรกๆเราอาจจะเปิดใจในเรื่องของหลักสูตรดูก่อนครับ ส่วนเรื่องสังคมเพื่อนๆนั้น จริงๆแล้วพี่ก็อยากให้ลองเปิดใจดูเหมือนกันนะครับ ลองแง้มๆดูก็ได้ครับ แบบว่าไม่ต้องเปิดเข้ามาหมดขนาดนั้นครับ ลองดูว่ามันเข้ากับวิถีของเราได้ไหม แต่อาจจะไม่ต้องถึงกับว่าเพื่อนๆเหล่านั้นต้องมามีพฤติกรรมหรือการเที่ยวการใช้ชีวิตเหมือนกับเราเลยนะครับ เพราะถึงแม้ว่าเป็นจุฬาฯเอง พี่ก็คิดว่าไม่มีทางที่ใครจะมาเป็นเหมือนใครแน่นอนครับ
พอเราเริ่มเปิดใจ แล้วใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ 1-2 เดือน ซึ่งระหว่างนั้น เราอาจจะลองคอยแบ่งเวลาเพื่อจะเตรียมตัวในการสอบเข้ามหาลัยครั้งหน้าไปด้วยก็ได้ โดยที่อาจจะลองนั่งเขียน Timeline ในเรื่องของการเตรียมตัวในเรื่องต่างๆครับว่า เราต้องเตรียมอะไรบ้างในช่วงเวลาเท่าไร เรื่องนี้ต้องอ่านจบในช่วงเวลาเท่าไร อะไรประมาณนั้น
แล้วจากนั้นเราก็ใช้ชีวิตเด็กปี1 ไปด้วย แต่เราต้องรู้ตัวเองตลอดนะครับว่า การเที่ยวนั้นจะต้องลดลงเพราะเรากำลังทำอะไร 2 อย่างในเวลาเดียวกัน ดังนั้น ทุกอย่างที่ทำต้องแลกมาด้วยเวลาที่หายไปเสมอ สำหรับพี่แล้วก็น่าจะเป้นช่วงเวลาที่ต้องใช้ความอดทนสูงอยู่เหมือนกัน เหมือนกับเรากำลังคบคน 2 คน มันแทบจะไม่มีเวลาเป็นของตัวเองเลย ต้องมานั่งสับรางเต็มไปหมด
จากนั้น ถ้าเกิดว่าเราผ่านช่วงเวลารับน้องไปได้ ต้องย้ำนะครับว่า ช่วงเวลารับน้อง เพราะแต่ละมหาลัยนั้น ส่วนใหญ่จะมีช่วงเวลารับน้องอยู่ที่ประมาณ 1-2 เดือนแรกที่เปิดเทอม ที่พี่บอกว่าช่วงเวลารับน้องก็เพราะว่าช่วงเวลานี้มันจะเกิดความยากลำบากขึ้นพอสมควรเลยครับ
การเรียนจะไม่ใช่แค่ว่าไปเรียนแล้วทำงานส่งอาจารย์หลังจากการเรียนในห้องจบลงเท่านั้น แต่นั่นจะมีพวกกิจกรรมที่ต้องรับน้องอยู่หลังเลิกเรียนด้วย ก็เป็นกิจกรรมที่เป็นประเพณีเพื่อให้รุ่นพี่นั้นได้มาทำความรู้จักกับรุ่นน้อง ซึ่งทุกที่ทุกคณะต่างมีกันทั้งนั้น คราวนี้มันก็จะยิ่งไปรบกวนช่วงเวลาที่ต้องเตรียมตัวในการสอบครั้งใหม่เข้าไปอีก เพราะลำพังการทำกิจกรรมตรงนี้เสร็จแล้ว แล้วเรารีบกลับมาที่บ้านเพื่อที่จะทำงานส่งอาจารย์ให้ได้นั้นมันก็เป็นเรื่องที่ยากพอสมควรอยู่แล้ว
ถ้าให้แนะนำวิธีที่จะผ่านไปได้ ก็คงต้อง ลด การเข้ากิจกรรมรับน้องไปหน่อยน่ะครับ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เข้าเลยนะครับ เพราะว่าอย่างที่ว่าถ้าเกิดว่าน้องต้องการอยู่ที่ธรรมศาสตร์ต่อไปนั้น บางทีกิจกรรมนี้มันก็ช่วงเพิ่มมิติให้กับชีวิตของน้องเหมือนกันนะครับ บางทีกิจกรรมนี้เมื่อเราเดินทางไปสุดทางของมันแล้ว มันอาจจะนำพาให้เรารักธรรมศาสตร์ขึ้นมาก็ได้ครับ
พอผ่านช่วงเวลานั้นมาได้แล้ว น้องอาจจะลองถามตัวเองอีกครั้งครับว่า สภาพแวดล้อมที่น้องอยู่นั้น น้องโอเคที่จะอยู่กัยมันรึเปล่า พอถึงช่วงเวลานั้น ถ้าเกิดว่าน้องยังไม่โอเค พี่ก็คิดว่าเป็นการดีที่จะออกมาเริ่มลุยเตรียมตัวเข้าสอบแบบเต็มที่ได้เลยครับ
-
ตอนนี้กำลังเรียนอยู่ม.4ค่ะ อยากให้พี่แนะนำหน่อยว่าถ้าเราอยากเรียนสถาปัตย์แต่ไม่มั่นใจว่ามันคือสิ่งที่ใช่รึเปล่า พี่จะทำยังไงหรอค่ะ คือแบบใจนึงรู้สึกว่ามันใช่แน่ๆ แต่อีกใจก็แบบจะใช่จริงหรอ [โดย :
กุลสตรี สระทอง วันที่ : 05-07-2017 ]
ความไม่แน่ใจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อจากนี้นั้น มันจะมีมาเสมอล่ะครับ ยิ่งช่วงหลังๆมานี่ ยิ่งมีอาชีพใหม่ๆเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาบนโลกนี้ ทำให้เราเริ่มลังเลละว่าสิ่งที่เราเลือกเรียนนั้น ในตอนนี้มันยังใช่อยู่ แต่ถ้าในอนาคตล่ะ มันจะยังใช่อยู่หรือไม่
ถ้าเป็นสมัยเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว พี่อาจจะแนะนำว่าถ้าเกิดว่าอยากเรียนสถาปัตย์ล่ะก็ น้องอาจจะต้องมีความรักกับมันและอยากเป็นสถาปนิกในอนาคต แต่พอมาเข้าสู่ยุคสมัยนี้แล้ว ความรู้มันไม่ได้เฉพาะเจาะจงขนาดนั้นครับ ความรู้ที่เรามีนั้นมันสามารถปรับเปลี่ยนประยุกต์เข้าสู่อาชีพต่างๆได้ ขอแค่มีพลังความคิดสร้างสรรค์และพื้นฐานระบบความคิดที่ดีการต่อยอดในอนาคตก็ไม่ใช่เรื่องยาก
การที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์นั้นได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องและไม่เสื่อมคลายนั้น อย่างแรกเลยคือ ด้วยความที่คณะนี้มันเกี่ยวข้องกับการออกแบบ เกี่ยวข้องกับความงามที่หลายคนสามารถเข้าถึงมันได้ เพราะว่ามีพื้นฐานมาจากความเป็นที่อยู่อาศัย เพราะแน่นอนว่าทุกคนย่อมมีบ้านที่ตัวเองอยู่ มีห้องนอนที่เราเองไม่ได้ออกแบบเอาไว้ ทุกอย่างที่เราใช้งานอยู่เป็นประจำ มันทำให้เราคุ้นเคย ทำให้เราเข้าถึงการที่ถ้าเกิดว่าเราจะต้องออกแบบมันใหม่ขึ้นมา เราก็มีพื้นฐานในการใช้งานของมันมาอยู่แล้ว
แล้วทุกคนก็ต้องมีบ้าน มีที่ทำงาน มีที่ให้ไปเดินเล่นท่องเที่ยวต่างๆ ดังนั้น ความเป็นสถาปัตยกรรมมันก็เลยอยู่กับวิถีชีวิตคู่กันกับความเป็นมนุษย์มาอยู่แล้ว การงานที่มีในอนาคตมันย่อมมีอยู่เยอะเป็นเรื่องธรรมดา ตราบใดที่มนุษย์อย่างเราๆยังต้องการที่อยู่อาศัยและการเปลี่ยนแปลง มันก็เลยเป็นสิ่งที่น้องหลายคนสามารถเลือกได้โดยที่ไม่ได้ถูกที่บ้านห้ามปรามเรื่องของอาชีพการงานในอนาคตเท่าไรนัก
จริงๆก็มีบ้างบางครอบครัวอยู่เหมือนกันที่ห้ามลูกเรียนสถาปัตย์ แต่นั่นหมายความว่าอาจจะตั้งใจให้ลูกของตัวเองเรียนหมอ หรือสาขาการเรียนที่มันตรงกับที่บ้านที่ทำงานอยู่เพื่อสืบต่อธุิจอะไรประมาณนี้ครับ
หรืออีกอย่างก็คือ ไม่ได้มีความรู้ว่าอาชีพนี้คืออะไร เห็นในเน็ตเขาเขียนๆกันว่ามันตกงาน งานมันหนัก เงินไม่ดีอะไรประมาณนั้น ก็เลยเน้นให้ลูกตัวเองเรียนอะไรที่มันชัวร์ๆไปเลยดีกว่า ครอบครัวประเภทที่คิดอย่างนี้ก็มีอยู่เหมือนกัน แต่วันเวลายิ่งผ่านไป ครอบครัวที่คิดแบบนี้ก็ลดน้อยลงไปเรื่อยๆครับ
อย่างที่สองถัดมาที่ทำให้สถาปัตย์ได้รับความนิยมคือ สังคม และคำว่า เพื่อน พี่เองก็ไม่รู้ว่าทำไมคนที่สอบเข้าคณะนี้ถึงมีความเป็นตัวของตัวเองสูงกันทุกคน เข้าใจว่าด้วยระบบการเรียนที่เน้นให้มีความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวของตัวเองนะ เพียงแต่ว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไป ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้ก่อนที่จะเข้าเรียนเสียด้วยซ้ำไป และก็ไม่รู้ว่าความฮาและความตลกซึ่งเป็นเสน่ห์ของคณะนี้นั้นจุดเริ่มต้นมาจากที่ใด
เพราะว่าแต่ละช่วงอายุก็มักจะมีไอดอลเป็นของตัวเองในการเข้าคณะนี้เสมอ หรือบางคนเข้าคณะนี้นั้นไม่ได้เข้ามาเพื่อเรียนแล้วเอาวิชาความรู้ไปประกอบอาชีพสถาปนิกด้วยซ้ำ แต่เข้ามาเพื่อจุดประสงค์ว่าอยากทำงานในวงการบันเทิงก็มีเยอะครับ
อย่างเพื่อนสนิทของพี่เองสมัยที่เรียนอยู่ เลือกที่จะเข้าเรียนคณะนี้ก็เพื่อที่จะได้มีโอกาสมาเล่นละครเวที อะไรทำนองนี้ ซึ่งตอนที่เรียนนั้น ก็ไม่ได้แบบว่ากล้ำกลืนในสิ่งที่เรียนอะไรเลย ก็พี่บอกนั่นล่ะครับ พอเราต้องเรียนเรื่องเกี่ยวกับการออกแบบบ้าน ออกแบบสถานที่ต่างๆนั้น มันเองไม่ได้ยากในการเรียนเท่าไหร่ เพราะมันอยู่ในหัวอยู่ในชีวิตมาโดยตลอดอยู่แล้ว ตอนนี้เรียนจบมานแล้ว เพื่อนพี่คนนี้ช่วงที่เรียนจบนั้น เลือกที่จะเข้าทำงานสายบันเทิงทันทีครับ แน่ขนาดที่เรียกว่าไม่สอบใบประกอบวิชาชีพสถาปนิกด้วย เหมือนกับว่าตั้งใจแน่วแน่มาแล้ว
หลายคนบอกเสียดายสิ่งที่เรียนมา ไม่ได้เอามาใช้ พี่เองคุยกับเพื่อนพี่คนนี้ และเข้าใจเลยว่าใครบอกว่าไม่ได้เอามาใช้ เพราะการเรียนคณะนี้นั้น เมื่อเรารู้ระบบการวางผังงาน ไม่ใช่แค่ว่าออกแบบอย่างเดียว สิ่งที่ตามมาคือ เราต้องเรียนเกี่ยวกับขั้นตอนของการก่อสร้างด้วย เราจะต้องวางระบบขั้นตอนต่างๆตามลำดับ และนั่นล่ะครับ คือ สิ่งที่เราได้ไปเต็มๆโดยที่เราไม่รู้ตัว
เพื่อนพี่คนนี้สามารถเอาสิ่งที่เรียนมาไปทำอีเวนท์งานแสดงต่างๆ และโดนดึงเข้าไปออกแบบเวทีคอนเสิร์ตอีกทั้งยังสามารถเป็นคนออกแบบและควบคุมงานต่างๆในวงการบันเทิงได้อย่างดีเยี่ยม
มันกลายเป็นว่าสิ่งที่เขาเรียนนั้นไม่ได้ถูกเอาใช้โดยตรง แต่ก็นำพาไปสู่มิติทางความคิดในการงานได้อยู่ ตอนนี้เพื่อนพี่คนนี้กลายเป็นคนสำคัญของการจัดคอนเสิร์ตในบ้านเราไปแล้ว
อย่างที่สามต่อมาเลยคือ การแตกแขนงของความรู้ที่เกิดขึ้นมันสามารถเอาความรู้นี้ไปใช้ต่อยอดได้เยอะเต็มไปหมดเลย ใช่แล้วครับพี่กำลังพูดถึงสาขาที่ใช้ในการเรียนต่อน่ะ จริงๆแล้วมีเยอะแยะมากมายเต็มไปหมดครับ แต่พี่จะยกตัวอย่างคร่าวๆมาให้แล้วกันนะครับ
ถ้าเกิดว่าน้องเป็นคนที่ชอบวิชาการมากกว่าการวาดภาพจินตนการ น้องอาจจะเกิดคำถามว่าแล้วเมื่อชอบในเชิงวิชาการแล้วมาเข้าคณะที่เรียนเกี่ยวกับการออกแบบทำไม จริงๆแล้วมันคือเสน่ห์ของความเป็นสถาปัตย์นั่นล่ะครับ เราได้เพื่อนที่มาจากหลายรูปแบบ หลายเหตุผลในการสอบเข้า
เวลาเปลี่ยนคนเปลี่ยนครับ บางคนช่วงที่เข้ามาอาจจะชอบในเรื่องของการวาดการออกแบบสุดๆเลย และเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อเขาได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง บางคนก็เปลี่ยนมาเป็นคนที่ชอบเขียนบทความทางวิชาการเกี่ยวกับทฤษฎีของการออกแบบก็มีเยอะไปครับ พี่เคยถามเพื่อนพี่เหล่านั้นเหมือนกันว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดมาจากอะไร เขาบอกว่าเกิดจากการที่ออกแบบมาจนถึงจุดหนึ่งแล้วก็อยากเจาะลึกเข้าไปมากกว่านั้น มากกว่าที่เป็นอยู่ พอการที่จะออกแบบให่มันมากกว่าที่เป็นอยู่ได้ มันก็เลยต้องเข้าไปเจาะลึกถึงทฤษฎีและพฤติกรรมต่างๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คนเหล่านี้ก็มักจะเลือกเรียนต่อในส่วนของการทำงานวิจัยเพื่อคุณภาพของสถาปัตยกรรมในอนาคต แน่นอนครับ เราชาวสถาปัตย์ส่วนมากนั้นก็ไม่ค่อยเดินไปด้านนี้เท่าไหร่เพราะว่าถ้าพูดเกี่ยวกับคำว่างานวิจัยแล้ว หลายคนวิ่งหนีทันที เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในหัวเท่าที่จำได้นั้น มันเกี่ยวกับเรื่องข้อมูลเชิงวิขาการที่มีความเป็นสถิติล้วนๆเลยครับ ภาพที่มีในหัวคือ วิชาสถิติที่แสงจะเหลียด กว่าจะผ่านมาได้ช่วงที่เรียนก็แทบแย่
แต่งานวิจัยเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเดินหน้าสู่อนาคตครับ เมื่องานวิจัยหลายอย่างเกิดขึ้นจริงได้ในอนาคต คนที่ทำวิจัยคนนั้นก็อาจจะจดลิขสิทธิ์ทางปัญญา เมื่อเวลาผ่านไป องค์กรใหญ่ๆอาจจะมาขอซื้อด้วยราคาที่มีมูลค่ามหาศาลก็ได้ครับ
การเลือกที่จะเรียนต่อในส่วนเหล่านี้นั้น ปลายทางก็จะเน้นไปเป็นอาจารย์ จากนั้นก็อาจจะเปิดบริษัทรับออกแบบเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็รับงานราชการ เป็นเส้นทางการเดินที่ค่อนข้างมั่นคงในระดับหนึ่งครับ แต่ก็นั่นล่ะครับ ถึงแม้ว่าจะมั่นคง แต่ว่ามันไม่ตื่นตาตื่นใจ คนก็เลยเลือกที่จะเดินไปทางนี้น้อยหน่อย เพราะโดยธรรมชาติของคนที่เลือกเรียนคณะที่เกี่ยวกับการออกแบบนั้น ส่วนใหญ่ชอบการเดินทาง การผจญภัยทั้งนั้นล่ะครับ
ส่วนคนที่ชอบวิชาการแต่คราวนี้ค่อนมาทางเกี่ยวกับตัวเลข เกี่ยวกับเรื่องของธุรกิจ ก็อาจจะเลือกเรียนต่อสาขาการเรียนเกี่ยวกับคณะบัญชีการบริหารก็ได้ หรือถ้าเน้นที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียนไปเลยก็อาจจะเป็นบริการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยที่เราเอาสิ่งที่เราเรียนมาคือ บ้าน อาคาร คอนโด เอามาวางแผนสร้างพัฒนาความคิดต่อยอดเป็นธุรกิจ
สาขาที่เลือกเรียนต่อตัวนี้นั้น เป็นสาขาที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันอยู่มากครับ เนื่องจากว่า มิติทางความคิดของเราเมื่อเรียนออกแบบอาคารนั้น มันย่อมมีแนวความคิดที่เข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการออกแบบอยู่แล้ว การคุยงานเกี่ยวกับส่วนต่างๆนั้นมันความเข้าใจถึงความเป็นไปได้มากกว่าสาขาอื่นที่จบมาแล้วมาเรียนต่อ หลายคนที่บ้านมีเงินหรือประกอบธุรกิจแนวนี้หรือมีแนวทางที่จะขยายไปยังธุรกิจนี้ ก็สบายเลยครับ
คราวนี้มาดูคนที่เรียนจบแล้วมีความต้องแบบเน้นลุยๆ เน้นจินตนการ เน้นความตื่นเต้นในชีวิต แน่นอนครับ สาขาแรกที่ตอนนี้ก็มีคนเรียนต่อกันเยอะคือ สาขาการออกแบบฉากต่างๆไม่ว่าจะเป็นหนัง, ละคร หรือว่าเกมส์ เป็นต้น
การเรียนต่อในแขนงนี้นั้นนิยมมากอยู่ในปัจจุบัน แต่อาจจะต้องเน้นการเรียนต่อเมืองนอก หลายคนเลือกที่จะเรียนที่เมืองนอกไม่ใช่ว่าหลักสูตรของที่นั่นดีกว่าที่เมืองของเรา เพียงแต่ว่ามุมมองในการทำงานและสายอาชีพที่หลากหลายมันอยู่ฝั่งตรงนั้น การเรียนต่อทางด้านนี้เหมือนกับการต่อยอดให้กับสิ่งที่ตัวเองเรียนมาเหมือนกัน
อีกอย่างคือ สายเกมส์ สายแอพพริเคชั่นต่างๆมันเป็นสายแห่งอนาคตครับ การร่วมกับเพื่อนสร้างแอพพลิเคชั่นนั้น ถ้าเกิดว่ามันสามารถเดินทางไปสู่จุดที่คนชอบและเป็นที่ยอดนิยมได้นั้น เรื่องเงินไม่ต้องพูดถึงครับ แต่สายนี้นั้น เท่าที่พี่เห็นส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เอาเงินเป็นที่ตั้งในการทำงานเท่าไหร่ เอาความสุขความตื่นเต้นในการทำงานล้วนๆเลย ที่เหลือเป็นผลผลอยได้ทั้งนั้น
ไม่ใช่ว่าทำงานแล้วไม่ต้องการรวยนะครับ เพียงแต่กระบวนการความคิดที่จะสร้างงานเหล่านี้นั้น เอาเงินเป็นที่ตั้งค่อนข้างยากน่ะครับ มันไม่เหมือนกับการออกแบบบ้านเพื่อที่จะขาย ออกแบบคอนโดเพื่อที่จะปิดโครงการให้ได้ หรือออกแบบสำนักงานเพื่อตอบโจทย์ให้โดดเด่นจะทรงประสิทธิภาพเข้าว่า
ส่วนการลุยในสาขาถัดมา อาจจะเป็นในเรื่องของการเน้นเป็นการคุมการก่อสร้าง แนวนี้จะต่างจากออกแบบฉากหรือเกมส์ไปเลย เน้นที่ความสามารถในเชิงวิศวกร อธิบายคร่าวๆก็คือ เหมือนกับว่าพอแบบจากทีมสถาปนิกถูกออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนที่เหลือคือ ขั้นตอนในการสร้างแล้ว เราหลายคนอาจจะเข้าใจว่าขั้นตอนในการสร้างนั้นมันเป็นเรื่องของผู้รับเหมา ไม่เห็นน่าจะเกี่ยวกับเราสักเท่าไหร่เลย
แต่ในความเป็นจริงนั้น เราปล่อยให้มีการสร้างเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้เข้าไปควบคุมไม่ได้หรอกครับ เพราะว่าผู้รับเหมาที่มาสร้างนั้น เป้าหมายของเขาคือการสร้างให้เสร็จเท่านั้น และเป็นไปตามแบบที่เห็น แต่เรื่องของรายละเอียดความเนี๊ยบ วัสดุที่เอามาใช้นั้น เราเองที่เป็นคนออกแบบต้องเข้าไปคุม หรือช่วยดูแลแทนเจ้าของโครงการล้วนๆเลยครับ
เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว เราเองนั่นล่ะที่จะทนไม่ไหวถ้าเกิดแบบที่เราออกแบบมานั้นมันโอเค แต่ช่างทำออกมาแล้วไม่ได้ตรงตามที่เราต้องการจริงๆ แบบนั้นันก็จะไม่ดี แล้วพอไม่ดี โดยปกติคนส่วนใหญ่นั้นมักจะพุ่งเป้าความสนใจมาที่ตัวสถาปนิกผู้ออกแบบมาก่อนเสมอ
ด้วยเหตุผลนี้ มันก็เลยเกิดเป็นอาชีพขึ้นมาที่ชื่อว่า CM หรือ Construction Management ครับ คือสถาปนิกที่ควบคุมงานการก่อสร้างนั่นเอง ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับโครงการใหญ่ๆที่ต้องมีการคุมการก่อสร้างโดยละเอียดทั้งในส่วนของตัวงานและระยะเวลาในการก่อสร้างเพื่อให้ทันกับตารางเวลาที่เจ้าของโครงการกำหนด
ประมาณว่าเวลาที่เราออกแบบโครงการใหญ่ๆนั้น เรื่องของระยะเวลาทั้งในการออกแบบและการก่อสร้างให้แล้วเสร็จนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากทุกอย่างเป็นเงินเป็นทองไปหมด อย่างเช่นถ้าเราออกแบบช้า ควบคุมงานเสร็จช้ากว่าที่กำหนด 3 เดือนคิดดูสิครับว่า โครงการนั้นจะเสียหายไปมหาศาลแค่ไหนจากการล่าช้านี้ และแน่นอน ถ้าเราทำไม่ทันตามกำหนด ปัญหาที่ตามมาจะเยอะ ดังนั้น อาชีพนี้จึงเป็นอาชีพที่สำคัญและก็มีงานตลอดทั้งชีวิตเลยก็ว่าได้ครับ
หลายคนที่เรียนคณะนี้แล้วไม่ได้มีหัวทางการออกแบบเท่าไหร่ ก็มักจะผันตัวเองไปสู่ด้านการควบคุมงานอะไรทำนองนี้
นี่เป็นเพียงแค่หลายตัวอย่างของอาชีพที่ถูกผันเปลี่ยนไปเท่านั้นนะครับ ความจริงแล้วยังมีอื่นๆอีกมากมายครับ เพียงแต่ที่พี่ยกมาให้นั้น พี่แค่อยากให้น้องเห็นเท่านั้นล่ะครับว่าเราไม่ต้องกลัวเราว่าคณะนี้นั้นจะใช่สำหรับเราหรือไม่ แค่ให้ตอบตัวเองอย่างเดียวว่าตอนนี้อยากเรียนหรือไม่ และไม่ว่าอนาคตความคิดเราจะเปลี่ยนไปเช่นไร ซึ่งต้องเปลี่ยนแน่นอนครับ เวลาเปลี่ยนทุกคนเปลี่ยนครับ น้องก็จะเอาความสุขที่น้องได้เรียนอะไรประมาณนี้ เอามาต่อยอดเป็นอาชีพของน้องที่เกิดขึ้นในอนาคตได้เท่านี้ก็เป็นคำตอบให้น้องแน่ใจแล้วล่ะครับว่าน้องจะเลือกเดินต่อหรือว่าไม่เดินต่อ
ส่วนตัวพี่เองนั้นสมัยที่พี่เรียน ขนาดพี่เองยังยอมรับเลยครับว่า ช่วงเวลาที่พี่อยู่ปี4นั้น หลายครั้งอยู่เหมือนกันที่พี่คิดว่าเบื่อหน่ายกับการออกแบบแล้วล่ะ อยากจะเปลี่ยนไปลองอาชีพอื่นดูบ้าง
ช่วงที่พี่เรียนนั้นพี่ก็ไปทำงานด้านอื่นควบคู่ไปกับการเรียนอยู่ด้วย ซึ่งหลายๆครั้งมันก็สร้างมุมมองที่หลากหลายขึ้นให้กับตัวพี่เอง บางสิ่งที่ออกไปทำขณะเรียน พอทำไปแล้วก็พบว่ามันไม่เวิร์คสำหรับเราเท่าไหร่ หลายคนอาจจะมองว่ามันเสียเวลา แต่สำหรับพี่ก็สนุกไปอีกแบบได้มุมมองที่เพิ่มเติมเข้ามาในชีวิต พอเปลี่ยนมุมมองอย่างนี้ กลายเป็นว่าอะไรที่อยู่ข้างหน้ามันสนุกและดีไปหมดทำให้เรากลับมามีพลังในการออกแบบเพิ่มมากขึ้นซะอย่างนั้น
ทุกวันนี้ บางวันพี่เองยังมีอารมณ์เบื่อไม่อยากออกแบบบ้างก็มีครับ บางวันตื่นขึ้นมาพร้อมกับความตื่นเต้นในการออกแบบ ประมาณว่าพลังในการทำงานกลับมาแล้วซะอย่างนั้นก็มีครับ
ทุกอย่างบางทีก็ไม่มีเหตุผล แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ พี่ก็ยังจะเลือกเรียนคณะนี้อยู่ดี หรือ แม้แต่เพื่อนของพี่ที่พี่เล่าให้ฟังข้างบนว่าเขาไปทำงานเกี่ยวกับเวที การจัดคอนเสิร์ต ทุกวันนี้ยังได้คุยกันอยู่เลยว่าถ้าเกิดว่าย้อนเวลากลับไปได้ ยังจะเลือกเรียนคณะนี้อยู่ไหม และตัวเขาเองก็ยังตอบเหมือนกับที่พี่ตอบอยู่เลยครับว่า แน่นอน เลือกเรียนอยู่
ความจริงแล้วคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์นี้มันเป็นคณะที่แปลกมากๆเหมือนกันนะครับ ปัจจุบันเราจะเห็นกันเยอะเลยว่า บ่นกันในพื้นที่อินเตอร์เน็ตของตัวเองอยู่ตลอด ว่าเรียนแล้วเหนื่อยเรียนแล้วเงินน้อยอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอเอาเข้าจริงๆ ทุกคนก็รักในสิ่งที่ตัวเองเรียนมากๆ และถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ก็คงยังเลือกเรียนมันอยู่ดี
-
พี่ค่ะ เพิ่งมารู้ตัวเองว่าอยากเรียนตอน ม.6 ไม่มีพื้นฐานด้วยคะ แถมปีนี้มีการเปลี่ยนระบบใหม่ด้วย อยากจะถามว่ามีความเป็นไปได้มั้ยค่ะที่จะสามารถฝึกได้ภายใน 2-3 อาทิตย์ และสามารถนำไปสอบได้ค่ะ [โดย :
นาฬิกา วันที่ : 26-06-2017 ]
ไม่รู้ว่าจะตอบยังไงดีเลยน่ะครับ ไม่มีพื้นฐาน ฝึก 2-3 อาทิตย์จะสอบได้มั้ย ..... เหมือนถามว่าไม่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษ อ่าน 2-3 อาทิตย์ จะสอบได้มั้ย... :)
-
ถ้าพี่ขี้เกียจอ่าน ผมเลื่อนไปด้านล่างได้เลยนะครับ ผมบอกปัญหาของผมไว้อยู่ ผมเป็นเด็กซิ่วครับพี่ เอาจริงๆตอนนี้ผมกำลังขึ้นปี2 ม.ปลายผมอยู่สายศิลป์คือเป็นศิลป์ทั่วไปเลย ตอนม.ปลายก็คิดว่าอยากเข้าสถาปัตย์นะ แต่คือผมเป็นคนวาดรูปไม่สวย แล้วก็ไม่ได้คิดจริงจังด้วย เลยคิดว่าตัวเองคงเรียนไม่ได้ แต่พอมาเข้ามหาลัยก็รู้สึกว่าตัวเองไม่อินกับการเรียนสักเท่าไหร่ ที่มาเรียนเพราะว่าลองยื่นพอร์ทแล้วมันติดบวกกับไม่ได้ไปสอบที่ไหนเลย พอติดก็เอาที่นี่ ตอนนั้นคิดง่ายมาก T^T พอเรียนมหาลัยมาเรื่อยๆก็รู้สึกว่าไม่โอเคกับที่เรียนอยู่ ผมก็เลยสมัครสอบ GAT,PAT1,2,3,4 พอถึงวันสอบก็ไปแบบงูๆปลาๆเตรียมตัวมาคืนเดียว เพราะว่าในมหาลัยมันก็มีงานด้วยเลยไม่ได้เตรียมตัว เอาง่ายๆคือผมจัดเวลาไม่เป็น พอไปสอบรู้สึกว่าชอบข้อสอบpat4(ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์) มาก เพราะว่ามันไม่ใช่การเรียนเพื่อมานั่งฝนอ่ะครับ พอคะแนนออกคือตกใจมากได้pat4 100/300 ถึงมันจะดูน้อยๆ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เตรียมตัวอย่างผม ผมคิดว่ามันเยอะมากเลยนะ น่าจะได้คะแนนมาจากpart isometric เพราะperspectiveนี่อ่านโจทย์ไม่ทันด้วยซ้ำ ถึงทันก็ทำไม่ได้ เพราะไม่เป็นเลย หลังจากประกาศผมก็คิดว่าถ้าเตรียมตัวมันก็น่าจะไหวอยู่ หลังจากนั้นผมก็เริ่มคลุกคลีกับงานสถาปัตย์ คลุกคลีกับperspective ไปดูคลิปสอนอะไรพวกนี้ แต่ก็ไม่ได้วาดตาม งานASA EXPO ผมก็ไปมา รู้สึกหัวใจเต้นแรงเวลาเห็นโมเดลครับ 55555 จนมาถึงตอนปิดเทอมมหาลัยนี่แหละ ผมก็เลยไปลงคอร์สติวสถาปัตย์ ตอนนี้ก็ลอกงานperspectiveได้แล้ว แต่พอไปทำโจทย์perspectiveจริงๆนี่นึกภาพไม่ออกเลยครับ เลยรู้สึกท้อมากจนหายท้อแล้วครับ 555555 เพราะผมคิดว่าคณะเป็นคณะที่ต้องใช้ทักษะที่ต้องฝึกฝน ถ้าเข้าไปเรียนโดยที่ไม่มีทักษะก็น่าจะเหมือนเข้าไปฆ่าตัวตาย ดังนั้นผมก็คงต้องพยายามมากกว่าคนอื่น คือตอนลอกงาน ตอนนั่งคิดโลโก้คือผมรู้สึกโอเคมากเลยนะ แต่ไม่รู้ไปเรียนจริงๆมันจะยังโอเคเหมือนตอนนี้รึป่าว อีกอย่างผมเพิ่งรู้ว่าสถาปัตย์ส่วนใหญ่เขารับวิทย์-คณิตกัน ก็มีกังวลนิดหน่อยเรื่องเขาจะไม่รับเราเพราะเรียนไม่ตรงสาย แต่เรื่องเลขเรื่องฟิสิกส์ผมไม่ห่วงนะ เพราะคณะที่เรียนตอนนี้ผมก็เจออยู่ สอบแคลคูลัส พวกดิฟ อินทิเกรตอะไรงี้นี่พอทำเป็นครับ ตอนนี้ก็ยื่นแอดมิดชั่นไปแล้ว รอประกาศเย็นนี้ จบแล้วนะครับ อาจจะยาวไปหน่อย
สรุปปัญหาที่ผมอยากถาม
1.ผมวาดคนตามแบบได้ แต่ให้นึกเองแล้ววาดนี่ไม่ได้เลยครับ นึกออกแค่ท่ายืนธรรมดา ถ้าอยู่ดีๆให้วาดคนหกล้มในมุม ant view อะไรแบบนี้นี่ไม่รอดแน่นอนครับ
2.นึกมุมperspectiveไม่ออกเลย (ผมเพิ่งเคยลอกไปสองงานเองครับ)
3.จากที่พี่อ่านมา พี่คิดว่าผมเรียนได้ไหม
4.อยากให้พี่บอกเรื่องที่ผมคิดไม่ถึงกับการเรียนสถาปัตย์หน่อยครับ พวกวิชาที่เรียนอ่ะครับ
ป.ล.ถามผมกลับได้นะครับ [โดย :
เด็กซิ่ว วันที่ : 14-06-2017 ]
ตอบคำถาม
พี่จะตอบเป็นข้อๆเลยละกันนะครับ
ตอบข้อ 1 : ผมวาดคนตามแบบได้ แต่ให้นึกเองแล้ววาดนี่ไม่ได้เลยครับ นึกออกแค่ท่ายืนธรรมดา ถ้าอยู่ดีๆให้วาดคนหกล้มในมุม ant view อะไรแบบนี้นี่ไม่รอดแน่นอนครับ?
การวาดคนนั้นสำหรับสายงายสถาปัตยกรรมแล้ว เราวาดเพื่อประกอบให้เป็นรูปเป็นร่างเพื่อเป็นองค์ประกอบให้กับสิ่งที่เราออกแบบเท่านั้น เพราะว่าจริงๆแล้ว งานที่เราจะโฟกัสเข้าไปมันเป็นตัวงานสถาปัตยยกรรมน่ะครับ
น้องส่วนใหญ่ที่เรียนแล้วเขียนคนได้ดีนั้น มักจะมีพื้นฐานที่ตั้งแต่เด็กๆเป็นคนที่ชอบวาดการ์ตูนมาอยู่แล้ว มันเลยทำให้เหมือนกับว่าเขามีชั่วโมงบินมาค่อนข้างเยอะอยู่ การเขียนท่าทางต่างๆมันเลยอยู่ในหัวมาโดยตลอด แล้วก็อย่างที่ว่านั่นล่ะครับ เวลาที่เขียนภาพที่ต้องการมิติความรู้สึกมากขึ้น พอมีคนเข้าไปแล้วมันสวยมันก็ไปเพิ่มมูลค่าให้กับตัวงานที่เราออกแบบมากขึ้นเข้าไปอีก
ทักษะด้านนี้เป็นทักษะที่ต้องอาศัยความชอบส่วนตัวล้วนๆเลยครับ จริงๆแล้วมันก็สามารถสอนกันได้ เพียงแต่ว่ามันใช้เวลาสอนที่ค่อนข้างนาน แล้วก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไรที่ตายตัวขนาดนั้น ก็เหมือนทั่วไปคือการเรียนพื่อเข้าใจสัดส่วนของร่างกายมนุษย์ว่าแต่ละส่วนนั้นพอประกอบเข้ารวมกันแล้วเป็นอย่างไร
ซึ่งในแต่ละคนที่มีสัดส่วนที่ต่างกันนั้น ก็ย่อมมีการเขียนที่ต่างกัน เอาเป็นว่าตรงส่วนนี้นั้นเราอาจจะไม่ต้องไปเครียดกับมันมากนักครับ เน้นว่าสามารถสื่อสารเพื่อให้เข้าใจได้ก็พอ
ตอบข้อ 2 : นึกมุม Perspective ไม่ออกเลย (ผมเพิ่งเคยลอกไปสองงานเองครับ)?
การนึกมุมในการเขียน Perspective ไม่ออกนั้น แสดงว่าเรายังใช้เวลากับมันน้อยไปครับ การฝึกเขียนภาพต่างๆเหล่านี้นั้น มันเหมือนกับการที่เราฝึกเล่นดนตรีนั่นล่ะครับ มันต้องอาศัยระยะเวลาในการฝึกฝนและก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าเราใช้เวลาทุ่มเทจริงจังต่อวันกับมันมากแค่ไหน
การฝึกในช่วงแรกๆของการเรียนพื้นฐานนั้น ส่วนใหญ่ก็ต้องมานั่งวาดตามภาพที่เป็นตัวอย่างก่อนครับ เพื่อให้อย่างน้อยก็พอที่จะนั่งเขียนดูว่า เวลาที่อาคารบ้านเรือนที่เราจะเขียนนั้น พอมันเปลี่ยนรูปร่างในแบบต่างๆจะต้องเขียนอย่างไรเพื่อให้มันถูกต้องตามหลักการของ Perspective
เวลาที่เราฝึกวาดนั้น อย่างต่ำๆน้องอาจจะต้องวาดเกินกว่า 10 ภาพขึ้นไปน่ะครับมันถึงเริ่มที่จะจับทางพอได้ว่าลักษณะต่างๆนั้นมันต้องเขียนอย่างไร
ซึ่งหลังจากนั้น พอเขียนซ้ำไปซ้ำมาเข้าจนสามารถจดจำอะไรบางอย่างได้แล้ว คราวนี้ก็เป็นส่วนที่ต้องพยายามหาภาพอาคารบ้านเรือนที่มันหลากหลายขึ้น ยัดเอาเข้ามาอยู่ในหัวเราให้ได้ ไม่อย่างนั้นเวลาที่เขียน Perspective ไปได้สักพักหนึ่ง มันจะเกิดอาการที่เขียนไปเรื่อยๆ รูปแบบของเรานั้นมันก็จะซ้ำแบบเดิมๆ ทำให้เขียนแล้วมันก็จะวนซ้ำอยู่ที่เดิม
หลายคนที่เกิดอาการอย่างนี้มักจะเข้าใจไปว่าตัวเองนั้นขาดจินตนาการ เขียนเท่าไรก็ได้แค่นี้ ซึ่งจริงๆแล้ว ขั้นตอนต่อไปมันอยู่ที่การเขียนเก็บรายละเอียดของอาคารจริงๆในหลากหลายรูปแบบ โดยวิธีการฝึกฝนนั้น เราอาจจะเริ่มต้นด้วยการนั่งสังเกตบ้านเรือนที่เราผ่านมันทุกๆวัน เมื่อผ่านแล้วเราลองถามตัวเองว่าเราสามารถจดจำรายละเอียดของตัวอาคารเหล่านั้นได้มากน้อยแค่ไหน มากจนถึงขนาดที่เราสามารถเอามาวาดรูปได้เลยรึเปล่า ถ้าเกิดว่ายังไม่ได้ แสดงว่าเรายังไม่ได้จดจำมันมากพอ คราวนี้อาจจะลองถ่ายรูปลงมือถือ แล้วก็ลองพยายามจดจำของมันให้ได้
หลังจากนั้นก็เอามาเขียนดู พอเราเริ่มวาด การวาดนั้นเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก จำให้ตายเท่าไร มันก็ไม่เท่ากับการที่เราวาดมันออกมา แล้ววาดมันแบบซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนั้น แล้วพอเราจำรายละเอียดต่างๆได้เพิ่มมากขึ้น เราก็ลองเขยิบเข้าไปวาดสถาปัตยกรรมต่างๆที่หลากหลายรูปแบบดูบ้าง มันก็จะทำให้ประสบการณ์การวาดของเราเพิ่มมากยิ่งขึ้น (อันนี้สำหรับน้องที่ต้องการฝึกฝนด้วยตัวเองนะครับ)
การฝึกวาด Perspective นั้น การที่เราวาดเก่งไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นนักออกแบบที่ดี แต่นั่นหมายความว่าเรามีต้นขั้วของการออกแบบสะสมอยู่ในหัวของเรา สิ่งเหล่านี้นั้นยิ่งเรามีมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นผลดี มันเหมือนกับว่าเวลาที่เราทำอาหารแล้วเรายิ่งมีเครื่องปรุง วัตถุดิบต่างๆที่เอามาทำอาหาร ยิ่งเยอะเท่าไร การคัดสรรให้ผลงานออกมาย่อมมีทางเลือกที่เยอะกว่าทั่วไปเป็นธรรมดา แต่นั่นก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอาส่วนผสมต่างๆนั้นมาปรุงรสให้ถูกใจชาวประชามากแค่ไหน
ดังนั้น Perspective ก็เป็นส่วนหนึ่งของคณะนี้เท่านั้นครับ ฝึกวาดไปเรื่อยๆเดี๋ยวมิติมันก็จะดันขึ้นมาสูงขึ้นเรื่อยๆเอง แต่ไม่ต้องไปเครียดถึงขนาดว่าถ้าเราไม่สามารถเขียน Perspective ได้ดีนั้น จะทำให้เราขาดคุณสมบัติของการเป็นสถาปนิกที่ดีแต่อย่างใดครับ
ตอบข้อ 3 : จากที่พี่อ่านมา พี่คิดว่าผมเรียนได้ไหม?
เรียนได้ครับ ไม่ต้องห่วง
ตอบข้อ 4 : อยากให้พี่บอกเรื่องที่ผมคิดไม่ถึงกับการเรียนสถาปัตย์หน่อยครับ พวกวิชาที่เรียนอ่ะครับ?
สิ่งที่ไม่คาดคิดพี่ว่าเกิดขึ้นเสมอนั่นล่ะครับ เวลาที่เราอ่านจากหัวข้อรายวิชานั้น มันเทียบไม่ได้กับที่เราเข้าไปเรียนเองจริงๆ โดยเฉพาะกับวิชาหลักๆของทางคณะอย่างเช่น วิชาพื้นฐานทางการออกแบบ หรือวิชาโครงสร้าง
อันนี้พี่พูดถึงรายวิชาหลักก่อนเลยละกันครับ ซึ่งฟังจากชื่อแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไรที่น่ากลัวเท่าไร เพราะว่าเราเข้าไปเรียนศาสตร์เกี่ยวกับการออกแบบ วิชาพื้นฐานทางการออกแบบก็ย่อมต้องเป็นวิชาที่เราอยากเรียนอยู่แล้ว แต่เชื่อไหมครับว่าวิชานี้เองก็เป็นตัวปัญหาอยู่พอสมควร ก็อย่างที่บอกนั่นล่ะครับ พอมันเป็นเรื่องของการออกแบบแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ มาตรฐานเรื่องของคะแนนที่อาจารย์ให้ มันอาจจะมีเรื่องของความค้างคาใจเกิดขึ้นได้เสมอ หรือพูดตรงๆก็คือ ความยุติธรรม
ความยุติธรรมคืออะไร ก็อย่างเช่น งานที่เราออกแบบนั้น เราทำทั้งคืน และมีความละเอียดมากกว่าเพื่อนร่วมชั้นของเราเยอะ แต่พอเมื่อเวลาที่ตรวจให้คะแนนแล้ว กลายเป็นว่าเพื่อนของเราได้คะแนนเยอะกว่าเราไปซะอย่างนั้น ทั้งๆที่เมื่อไปดูงานของเขาแล้ว เราเองก็คิดว่าของเราดีกว่าอยู่ดี
สิ่งต่างๆเหล่านี้จะเกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะว่าเมื่อเป็นเรื่องของการออกแบบแล้วนั้น มันไม่มีผิดมีถูกแต่อย่างใดครับ มันมีแต่ถูกใจหรือว่าไม่ถูกใจเท่านั้น และก็ไม่ได้หมายความว่างานใครดีกว่าใครขนาดนั้นด้วย สิ่งไม่คาดฝันที่น้องไม่คิดจะเจอสิ่งแรกจากรายวิชานี้จะเกิดขึ้นแน่นอนไม่ช้าก็เร็วครับ
ส่วนเรื่องรายชื่อวิชาการที่น้องจะต้องเจอและไม่คาดคิด จริงๆมันไม่ได้เวอร์เกินกว่าที่มันควรจะเป็นแต่อย่างใดครับ เพราะเท่าที่พี่อ่านมา น้องเรียนเกี่ยวกับคณะที่มีการเรียนคำนวณมาอยู่บ้างแล้ว เท่าที่เหลือก็อาจจะเป็นพวกวิชาฟิสิกส์พื้นฐาน ซึ่งอันนี้ไม่ต้องห่วงเลย พี่ว่าสามารถผ่านมันไปได้อย่างไม่ยากเท่าไร อาศัยค่อยๆให้เพื่อนที่เขารู้ติวให้ก็ได้
รวมไปจนถึง วิชาที่มีการคำนวณเกี่ยวกับโครงสร้างการรับแรงต่างๆ อันนี้ก็น่าจะเป็นเหมือนกันครับ คือเพื่อนๆที่เขาเรียนมาอยู่สายวิทย์เก่งๆ เดี๋ยวเขาก็จะจับกลุ่มช่วยกันติวเพื่อให้สามารถพอทำวิชานี้และผ่านมันไปได้ครับ สมัยที่พี่เรียนนั้น เพื่อนๆหลายคนก็จบมาจากสายศิลป์ทั้งนั้น ก็สามารถเรียนเนื้อหาเหล่านี้ได้รอดครับ
เนื่องจากเนื้อหาที่เราเรียนนั้น มันเป็นเนื้อหาที่มีความเฉพาะเจาะจง และการสอบแต่ละครั้งนั้น มันมีจุดประสงค์ที่จะออกข้อสอบในแต่ละเรื่องอย่างชัดเจนครับ มันไม่ได้หว่านกว้างเหมือนกับข้อสอบมัธยมปลายที่อะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด
อันนี้มันเหมือนกับว่าเราเข้าไปสอบแล้วเรารู้เลยว่าข้อสอบต้องการให้เรารู้เรื่องอะไร การติวเลยมีเนื้อหาที่ตรงตัวครับ อาจจะใช้ความพยายามหน่อยเดี๋ยวมันก็ผ่านไปได้ ไม่ใช่เรื่องที่สำคัญมากมายสำหรับคณะนี้ และอาจารย์ที่เขาออกข้อสอบ เขาก็ไม่ได้ออกข้อสอบมายากจนเกินกว่าเด็กที่เรียนออกแบบอย่างเราๆจะทำไม่ได้ครับ เขารู้ดีว่าสิ่งที่เขาสอนนั้น มันเป็นเพียงแค่ตัวประกอบของสายวิชาชีพของเราเท่านั้น เลยไม่จำเป็นจะต้องเอาเป็นเอาตายเหมือนกับวิศวะอย่างนั้น
เรื่องของวิชาการในชั้นปีที่ใกล้จบนั้น ก็ยังคงอยู่ทุกเทอมและมีไปเรื่อยๆครับ แต่พอปีสูงๆใกล้จะจบนั้น ส่วนของวิชาการจะเริ่มเปลี่ยนเป็นการบูรณาการมากขึ้น โดยอาจจะเอาวิชาเศรษฐศาสต์เข้ามาเพื่อให้เราเรียนรู้ด้วย เพราะว่าศาสตร์ที่เราต้องเรียนจบออกไปทำงานนั้น มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเข้าไปข้องเกียวกับวิถีชีวิตมนุษย์และระบบเศรษฐกิจครับ
แต่แง่ดีของมันก็มีเยอะนะครับ เพราะว่าวิชาที่เราเรียนนั้น เมื่อเรียนจบแล้วเราสามารถต้อยอดไปเรียนต่อปริญญโท ในหลายๆคณะได้ เนื่องจากพื้นฐานที่เรามีอยู่นั้น การต่อติดกับส่วนของบริหารธุรกิจในสาขาวิชาต่างๆนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ยากครับ