NEWS & ACTIVITIES

มศว แนะให้มหา'ลัยร่วมออกข้อสอบกลาง

มศว แนะให้มหา'ลัยร่วมออกข้อสอบกลาง “จาตุรนต์” ย้ำไม่เลิกระบบรับตรง แต่เป็นการลดภาระเด็ก

 

อธิการ มศว แนะควรให้มหา’ลัยมีส่วนร่วมออกข้อสอบกลาง ชี้การคัดเด็กให้ตรงตามต้องการของคณะ/มหา’ลัยเป็นเรื่องยาก ยันมหา’ลัยไม่ออกนอกหลักสูตรแต่มีข้อสอบที่ทดสอบไหวพริบของเด็กที่ในหลักสูตรการเรียนไม่มี ลั่นปัญหารับตรงไม่ได้อยู่ที่การรับคนละช่วงเวลาไม่ใช่เรื่องการออกข้อสอบ ขณะที่ “จาตุรนต์” ย้ำไม่ได้ให้ยกเลิกรับตรง อยากให้ลดการสอบและหันมาใช้การทดสอบกลางที่จะพัฒนาระบบขึ้น เริ่มตั้งแต่ปี 58 พร้อมระบุในปี 59 ใช้ระบบการทดสอบกลางได้อย่างสมบูรณ์

 

จากมติที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาแนวทางการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ขอความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่ยังไม่ได้ดำเนินการสอบรับตรง ในปีการศึกษา 2557 ให้เลื่อนจัดสอบออกไปหลังจากที่นักเรียนจบการศึกษาแล้ว และในปีการศึกษา 2558 ให้คณะและมหาวิทยาลัยลดการจัดสอบรับตรงเองลง แต่หากจะจัดสอบก็ขอให้ใช้ข้อสอบกลาง หรือร่วมรับตรงผ่านระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบรับตรงผ่านเคลียริงเฮาส์และให้มีการจัดสอบหลังจากเด็กเรียนจบการศึกษาแล้ว โดยได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อพัฒนาข้อสอบกลาง เพื่อให้มหาวิทยาลัยนำคะแนนไปใช้ในการรับตรง

       ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครรินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยหากจะพัฒนาข้อสอบกลาง แต่การออกข้อสอบเพื่อให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งสามารถคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนได้ตรงตามที่ต้องการนั้นเป็นเรื่องยาก ดังนั้น อาจจะต้องให้มหาวิทยาลัยมาร่วมกันออกข้อสอบเอง จะได้รู้ถึงความต้องการแต่ละคณะ/สาขา ทั้งนี้ ยืนยันว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่เคยออกข้อสอบเกินหลักสูตรสามารถตรวจสอบได้ แต่มีข้อสอบซึ่งใช้ทดสอบปฏิภาณไหวพริบ เพื่อใช้ทดสอบความถนัดของนักเรียนว่าเหมาะสมในการเข้าศึกษาต่อในสาขานั้นๆ หรือไม่ ซึ่งข้อสอบดังกล่าวไม่มีในหลักสูตร อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่พัฒนาข้อสอบมหาวิทยาลัยก็ยังจำเป็นต้องออกข้อสอบ และจัดสอบรับตรงเอง เพื่อให้สามารถคัดเลือกเด็กเข้าเรียนได้ตามต้องการ โดยที่ผ่านมาทางที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เอง พยายามแก้ปัญหานักเรียนวิ่งรอก สอบรับตรง ทำให้ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก โดยขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยให้รับตรงในช่วงเวลาเดียวกันในเดือนมกราคม เชื่อว่าในปีการศึกษา 2558 มหาวิทยาลัยจะมารับตรงในช่วงนี้มากขึ้น จะสามารถลดปัญหาการวิ่งรอกสอบ และผู้ปกครองเสียค่าใช้จ่ายมากได้ส่วนหนึ่ง

       “ปัญหาการรับตรงไม่ได้เกิดจากมหาวิทยาลัยไปออกข้อสอบเอง แต่เกิดจากมหาวิทยาลัยรับตรงคนละช่วงเวลากันทำให้เด็กวิ่งรอกสอบเกือบทั้งปี ดังนั้น ทปอ.จึงแก้ปัญหาโดยให้มหาวิทยาลัยมารับตรงในช่วงเดียวกัน ขณะเดียวกันในช่วงนี้ก็ควรจะมีการพัฒนาระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางหรือแอดมิชชัน ให้มีความสมบูรณ์ก็จะสามารถแก้ปัญหารับตรงได้” ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าว

 

       ด้าน นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การพัฒนาข้อสอบเพื่อให้มหาวิทยาลัยและคณะต่างๆ ใช้ในการรับตรง ไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิกการสอบรับตรง เพราะรับตรงไม่ใช่ตัวปัญหา เพียงแต่วิธีการรับตรงที่คณะและมหาวิทยาลัยจัดสอบเองทำให้เกิดการสอบจำนวนมากในเวลาต่างๆ กัน และจัดสอบนอกหลักสูตรกระทบต่อการเรียนการสอนในระบบ ทำให้เด็กไม่สนใจเรียน เพราะฉะนั้น ไม่ได้บอกให้ยกเลิกการสอบรับตรงแต่ขอให้ลดและก้าวไปสู่การไม่มีการสอบเองของแต่ละคณะ/มหาวิทยาลัย และใช้การทดสอบกลางที่พัฒนาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา( สกอ.) ทำหน้าที่ประสานงาน

       “การจัดการศึกษาของประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่มีการให้มหาวิทยาลัยจัดสอบคัดเลือกเอง แต่จะใช้การทดสอบกลางในการคัดเลือกซึ่งตรงนี้ต้องมาร่วมวางระบบร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้การทดสอบกลางนั้นมีมาตรฐานเพื่อที่มหาวิทยาลัยได้คนมีคุณภาพเข้าไปเรียนและที่สำคัญต้องให้การทดสอบกลางมีผลต่อการพัฒนาเด็กในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย” นายจาตุรนต์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมจะรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพราะไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อผู้เรียนในปัจจุบันที่อาจจะเตรียมความพร้อมอย่างใดอย่างหนึ่งไว้แล้ว โดยตั้งใจว่าสามารถใช้การทดสสอบกลางได้สมบูรณ์ภายในปีการศึกษา 2559

 

 

 

ที่มา Manager Online