เจ้าพ่อหนังรัก “ต้น นิธิวัฒน์”
“ต้น-นิธิวัฒน์ ธราธร” ผู้กำกับภาพยนตร์แนวรัก โรแมนติก คอมเมดี้ ที่เรื่องล่าสุดของผู้กำกับหนุ่มคนนี้กำลังเข้าฉายอยู่คือ “คิดถึงวิทยา” ในสังกัดค่าย จีทีเอช ที่โกยรายได้เกิน 80 ล้าน และกำลังทะยานสู่ 100 ล้านในเร็ว ๆ นี้ เปิดใจถึงหนังดัง ซีนเด็ด ช็อตจำ ของหนังแต่ละเรื่องที่เขากำกับมา เริ่มตั้งแต่ แฟนฉัน, ซีซั่นเชนจ์..เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย และล่าสุด คิดถึงวิทยา ที่กำลังฉายอยู่ขณะนี้
ต้นทำหนังแต่ละเรื่อง เริ่มตั้งแต่แฟนฉันเราคิดไหมคะว่า หนังเรื่องนี้มันจะมีซีนเด็ดหรือซีนจิ้นให้กับคนดูยังไง ?
“ซีนเด็ดใช่ไหมฮะ จริง ๆ ปกติมันต้องมีนะฮะ โดยปกติเราจะรู้สึกว่าหนังรัก คือจริง ๆ หนังทุกเรื่องสำหรับผมมันน่าจะมีภาพจำอะไรบางอย่างให้กับคนดูแล้วก็มันคือซีนประทับใจ โดยเฉพาะหนังรักผมจะรู้สึกว่าทุกเรื่องเวลาเราเดินออกจากโรง มันจะมีภาพจำบางอย่าง ซึ่งพวกนี้จะต้องมีอยู่แล้วฮะในภาพยนตร์ แต่ว่าเราจะเบรนภาพจำไปอยู่ในหนังอย่างไร”
มันต้องเริ่มตั้งแต่การเขียนบทก่อนไหมคะ เพื่อจะเห็นภาพ?
“ทุก ๆ ครั้งแหละเรื่องจะต้องมาก่อน เราไม่สามารถคิดภาพได้มาก่อนทุกครั้ง อยู่ที่เรื่องว่าต้องการเล่าอารมณ์แบบไหน อย่างเช่น สมมุติว่า อย่างแฟนฉันภาพจำอาจจะฉากตัดหนังยาง แก๊งผู้ชายนะต้องไปตัดหนังยางผู้หญิงถือเป็นการพิสูจน์ความเป็นชายคือเรื่องมันมีอยู่แล้ว พอเรื่องมันมีอยู่แล้วเนี่ย เราพยายามสร้างภาพขึ้นมา เด็กกำลังเล่นอยู่ แล้วก็เดินไปตัดหนังยางน้อยหน่าแต่ภาพที่คนคงจำ ผมเชื่อว่าภาพที่เจี๊ยบตัดมันคือน้ำตาของผู้หญิงคนนี้ ที่ผมรู้สึกว่าทุกคนคงจำภาพนี้ได้ว่า เราทำไมถึงสามารถทำให้เด็กผู้หญิงที่เรารักที่สุด เพื่อนที่สนิทที่สุดของเราร้องไห้ได้ อันนี้อาจจะเป็นภาพหนึ่งที่คนดูยังจำได้อยู่”
แล้วพอมาถึง ซีซั่นเชนจ์ ล่ะคะเพราะเรื่องแรกที่ต้นต้องกำกับคนเดียวและก็ยังคงความเป็นหนังรักอีก ?
“มันเริ่มจากการตั้งคำถามกับการเลือกชีวิต เราจะพูดถึงเด็กคนหนึ่งถ้าสิ่งที่เขาชอบ กับสิ่งที่พ่อแม่ชอบมันไม่เหมือนกันแต่ว่าเราเล่าการเลือกชีวิตบนพื้นฐานของความรักด้วย คือในหนังมันพูดถึงสิ่งที่ชอบ ป้อม ต้องเลือกสิ่งที่มันชอบระหว่างอะไรกับอะไรทั้งเรื่อง สิ่งที่เราชอบกับสิ่งที่พ่อชอบ ผู้หญิงที่ชอบกับคนที่มาชอบ ดนตรีที่ชอบ คือทุกอย่างมันจะเป็นเหมือนการใช้ชีวิต
แต่ว่าความรักเป็นลายหนึ่งที่เป็นเส้นใหญ่ให้คนสัมผัสได้ง่าย เราก็เลยรู้สึกว่ามันทำให้คนดูอินได้มากที่สุดนะครับ อย่างภาพจำภาพที่ผมชอบของผมเองเนี่ยคือมันจะมีภาพกางร่มเดินไปสองคนอย่างเงี้ย คือผมคิดจากภาพสมมุติว่าหนังมันเกี่ยวกับฤดูกาลแต่แรก คือคอนเซปต์ของหนังพูดเรื่องของชีวิตมันเปรียบเทียบกับฤดูกาล มันมีวันแดดออก มันมีฝนตก มันมีวันฤดูหนาว คือคอนเซปต์ของมันมาตั้งแต่แรก
ผมพยายามจะถ่ายทอดภาพแรกในหนังคือต้องเป็นฤดู เพราะ
ฉะนั้นเนี่ยจะเป็นภาพจำสำหรับคนถ้าพูดถึงฤดูต้องเห็นชัด มีหน้าร้อน มีหน้าฝน มันก็จะมีบรรยากาศหน้าร้อน หน้าฝน หน้าหนาว แล้วก็ถ่ายภาพเนี่ยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องมีความสัมพันธ์กับฤดู มันค่อย ๆ มาเป็นคอนเซปต์ ๆ ไปเรื่อย ๆ เสร็จปุ๊บเราก็รู้สึกว่าเอ๊ะ! ภาพในฤดูกาลอันไหนมันรู้สึกว่ามันดูน่ารัก มันดูประทับใจ ผมก็เลยมานึกถึงเออหวะถ้าเรานึกเล่น ๆ สมมุติถ้าเราชอบร่ม ถ้าเรามีร่มพระเอกให้ร่ม กางร่มเดินไปสองคนภาพนั้นผมชอบมาก คือมันบอกว่าผู้ชายคนนี้กำลังดูแลผู้หญิงคนนี้อยู่”
แต่ละภาพจำมันก็จะมีเหตุการณ์ ?
“ใช่มันต้องมีเหตุการณ์รองรับ อย่างแรกคือคอนเซปต์ของซีน เราถึงจะสามารถสร้างเป็นภาพเหตุการณ์ขึ้นมาเป็นภาพจำขึ้นมา”
มาถึง หนีตาม กาลิเลโอ ?
“เออ...ก็เป็นคอนเซปต์เหมือนกัน ภาพจำที่สุดของผมคือภาพที่เต้ย กะเรย์ชูป้ายกลางถนนช็องเซลีเซ อันนี้ก็มาจากคอนเซปต์เราพูดถึงคนไทยในต่างแดน แล้วเราก็จะรู้สึกว่าทุกครั้งที่ผมไปเมืองนอกผมจะรู้สึกอบอุ่นใจเสมอ เวลาเห็นภาษาไทย เวลาเราอยู่ในประเทศที่เราพูดภาษาไทยไม่ได้ไม่รู้เรื่อง เราเป็นคนส่วนน้อยของคนประเทศนั้น ยิ่งไปอยู่ประเทศฝรั่งเศสในหนังอย่างเนี้ย อังกฤษก็พูดไม่ได้ฝรั่งเศสก็อ่านไม่ออก แล้วทุกครั้งที่เราเห็นตัวหนังสือภาษาไทย ร้านอาหารไทย หรืออะไรก็แล้วแต่เราจะรู้สึกดีมากเหมือนกับเรามีเพื่อนทั้งที่เราไม่เคยเจอไม่รู้จักเขาไม่ได้เป็นอะไรหรอก แต่ว่าก็รู้สึกมันสบายใจกับเราผมก็เลยรู้สึก เหตุการณ์นี้ดีจังเลย และซีนนี้มันมาจากเหตุการณ์จริง
เพราะว่าวันนั้น พอเราชูขึ้นไปเรากลับได้เห็นคนไทยคนอื่น ๆ ที่เข้ามาแล้วมีส่วนร่วมกับเรา มันเป็นเหมือนความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของภาษาของคนทำให้เรารู้สึกว่า เฉพาะคนที่อ่านอันนี้ออกเท่านั้นถึงจะรู้เรื่องกันซึ่งมันมีอยู่ไม่กี่คนในถนน นับหมื่น”
แล้วพอมาถึง คิดถึงวิทยาล่ะ?
“คิดถึงวิทยาเนี่ย ภาพจำผมที่ชอบที่สุด ในเรื่องราวของความรักน่าจะเป็นซีนว่ายน้ำ หนังเรื่องนี้มันพูดถึงครูที่อยู่ที่กลางน้ำ เพราะฉะนั้นเนี่ยผมจะรู้สึกว่าอะไรล่ะที่มันจะไปได้มากกว่าน้ำ มันต้องอยู่ในน้ำซิ ความรักของคนที่อยู่กลางแพกลางป่า กลางเขามันก็อยู่ในน้ำนั่นแหละถึงจะเหมาะที่สุด ไปอยู่ที่อื่นมันก็จะไม่เข้ากับเรื่อง สำหรับผมตัวละครเรื่องนี้จะต้องว่ายน้ำได้ แล้วซีนรัก ก็ต้องแบบว่าถ้าเขาว่ายน้ำด้วยกัน มันคงโรแมนติกพิลึกเนอะ
ตอนนั้นคิดจากคอนเซปต์นี้ ว่ายด้วยกันจะว่ายแบบไหนดี มันถึงจะประทับใจ ก็เลยคิดถึงภาพที่นางเอกเขินเลยก้มหน้าลงไปในน้ำ ไม่อยากให้ผู้ชายเห็นว่าเขาเขิน แต่ผู้ชายอยากเห็นก็เลยว่ายลงไปแบบหงายเพื่อมองหน้านางเอก ฉันรู้นะว่าเธอยิ้มอยู่ มันมาจากคอนเซปต์นี้ ก็เลยทำให้เกิดภาพนี้ขึ้นมา”
ผู้กำกับแต่ละคนก็มีสไตล์เป็นของตัวเองใส่ไปในหนังของตัวเองต้นมีอะไรในหนัง?
“ใครที่ดูหนังผมหลาย ๆ เรื่องผมเป็นคนที่รสมือแบบไม่เผ็ดมากไม่เปรี้ยวมากไม่เผ็ดจัด ไม่หวานจัดผมจะเป็นแบบกลม ๆ คือผู้ดูรู้สึก ผมเองก็เป็นคนแบบนั้นคือบางครั้งมันจะไม่ตลกจ๋า ๆ แต่มันก็จะไม่บีบคั้นอารมณ์แบบสุด ๆ เพราะผมก็รู้สึกว่ามันเป็นอารมณ์ บางคนบอก มันอุ่น ๆ ผมก็เออ ๆ ยินดีและน้อมรับคำนี้นะฮะ มันก็เป็นความรู้สึกที่ดี มันเป็นอารมณ์ที่เราต้องการให้คนดูรู้สึกแบบนั้น”
ถือว่าเป็นอีกหนึ่งผู้กำกับที่มีความอบอุ่นซ่อนอยู่ในหนังของเขาแทบจะทุกเรื่อง และวันนี้เราก็ต้องขอบคุณ ผู้กำกับคนเก่ง ต้น-นิธิวัฒน์ ธราธร ที่มานั่งพูดคุยกับเราในวันนี้
เดลินิวส์